สร้าง Application ครั้งแรก แต่กลับ “ล้มเหลว”

30-ม.ค.-18

คัมภีร์เทพ IT

โดยทั่วไป เวลาเราทำอะไรในครั้งแรก ย่อมมีโอกาสในการเกิดข้อผิดพลาด ซึ่งอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่างประกอบกัน ในบทความนี้ก็เช่นกัน เป็นการแชร์ประสบการณ์ของชายคนหนึ่ง(คุณ Hoppy Bouasavanh) ที่เขาได้ลองทำ Application เป็นครั้งแรก แต่สุดท้ายแล้วกลับไม่ประสบความสำเร็จ มันเพราะสาเหตุใดถึงทำให้เกิดความผิดพลาด ลองอ่านเรื่องของเขากันได้เลยครับ

คุณ Hoppy เชื่อว่า การที่จะทำงานให้เกิดผลลัพธ์ออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ก็คือ การทำมันให้เป็นกิจวัตร และตอนนี้เขาเองก็กำลังพยายามอย่างมาก ในการสร้างกิจวัตรใหม่ๆ โดยที่ไม่ต้องมีใครต้องมาคอยเตือนหรือบอก แต่โชคไม่ดีนักที่การค้นหา App เกี่ยวกับการแจ้งเตือนต่างๆ มันไม่ได้ดั่งใจที่เขาต้องการ ซึ่ง Keyword หลักที่เขาค้นหา ก็คือ “Alarm”, “Routine”, “Trigger” และ “Habit” ดังนั้น เขาจึงตั้งใจอยากที่จะสร้าง App ขึ้นมาตัวหนึ่ง โดยตั้งชื่อว่า “Habit Trigger” ซึ่งเป็น App เพื่อใช้แจ้งเตือนผู้ใช้งานในช่วงของวันและเวลาที่ต้องการ หรือ เตือนเป็นระยะๆ เช่น ทุก 2 ชั่วโมง เป็นต้น แนวทางการเรียนรู้เรื่องการเขียน Code ของเขาก็คือ การอ่านจากหนังสือ แล้วตามด้วยการฝึกทำตามหนังสือเพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและเข้าใจให้มากขึ้น ซึ่งใช้เวลาไปประมาณ 1 เดือนก่อนที่เขาจะเริ่มลงมือเขียน Software จริงๆ จากนั้นก็เริ่มลงมือทำจริง ทั้งที่ความรู้อาจยังไม่มากพอ ถึงตอนนี้แนวทางของเขาก็ได้เปลี่ยนไป เขาหันมาเรียนรู้โดยใช้หลัก "Production-based Learning" คือ เรียนรู้ไปพร้อมๆ กับการพัฒนา Product ไปด้วย

เขาเริ่มต้นด้วยการ เขียน User Story เพื่ออธิบายว่า ผู้ใช้จะมีปฏิสัมพันธ์กับ Application ของเขาอย่างไรบ้าง ขั้นตอนต่อไปคือ สร้างตัว Mock up ของ User Interface และในวันที่ 3 ของการพัฒนา App เขาก็ได้ซื้อหนังสือเล่มหนึ่ง ชื่อ “Head First Android” และได้อ่านบทแรกๆ ในหนังสืออย่างคร่าวๆ เพื่อศึกษาวิธีการทำงานของ Android จากนั้นก็เริ่มต้นเขียน Code เลย ทั้งที่ยังไม่มีความรู้มากนัก

ในช่วงระหว่างการพัฒนา App เขาก็เจอเรื่องติดๆ ขัดๆ อยู่เสมอ เขาก็เลยใช้ Google เพื่อหาทางแก้ปัญหา และส่วนใหญ่ที่พบก็คือ เจอคำศัพท์หรือคำธิบายที่ยังไม่เข้าใจ จึงทำให้เขาต้องค้นใน Google อีกครั้ง หรือไม่ก็หันไปพึ่งหนังสือ เพื่อที่จะได้เข้าใจความหมายเหล่านั้น เขาใช้เวลาเกินไปจากที่ประมาณไว้มาก จากที่คิดว่าน่าจะ 5 นาทีกลายเป็น 2 วัน เพื่อที่จะเข้าใจและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ อย่างไรก็ตามเขากลับไม่รู้สึกว่าการทำเช่นนี้ ถือเป็นการเสียเวลาเลย เวลาที่ใช้ในการค้นหานั่น มันส่งผลต่อการ Coding ใน Application เขา ถือเป็นการได้ใช้ความรู้อย่างแท้จริง และถือเป็นวิธีที่ดีกว่าวิธีก่อนหน้า หลังจากผ่านไป 9 วัน Prototype ก็สำเร็จไป 30%

ในวันที่ 10 ขณะที่เขากำลังหยุดพักจากการพัฒนา App ชั่วคราว เขาก็ลองค้นหา Google โดยใช้ keyword ว่า “Repeat Alarm” ซึ่งเขาก็พบว่า ผลของการค้นหาลำดับที่ 3 ใน Google Play Store มันช่างตรงกับสิ่งที่เขาต้องการพอดิบพอดี ซึ่ง Application ดังกล่าว มียอดดาวน์โหลด 10,000-50,000 ครั้ง และมีการให้ Rating สูงถึง 4.2 จากผู้ใช้จำนวน 128 ราย นอกจากนี้ User Interface และ Feature ทั้งหมดของ App นี้ ก็คล้ายคลึงกับสิ่งที่เขาคิดไว้เป็นอย่างมาก

หลังจากวันนั้นเอง เขาก็หยุดพัฒนา Project ตัวเอง และกลับกลายมาเป็นผู้ใช้งาน Application “Repeat Alarm” แทน ซึ่งเขาเองก็รู้สึกเศร้าใจเล็กน้อย ที่สุดท้ายแล้วไม่ได้ที่ทำตามสิ่งที่คิดไว้ให้สำเร็จ แต่อย่างไรก็ตาม เขาก็รู้สึกพอใจกับไอเดียของตัวเอง ที่มันสามารถส่งผลกระทบต่อผู้คนได้

สิ่งที่ได้เรียนรู้ ก็คือ เราไม่จำเป็นต้องรู้ให้หมดทุกอย่าง ก่อนจะเริ่มลงมือทำอะไร มันจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นถ้าได้เรียนรู้และได้ประยุกต์ใช้สิ่งที่เราได้เรียนรู้ไปด้วยในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้เราควรศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสทางการตลาดของ Product นั้นๆ ก่อนที่จะเริ่มพัฒนา Product หรือดำเนินการใดๆ

เป็นไงบ้างครับ อ่านจบแล้ว มีความคิดเห็นหรือรู้สึกอย่างไร กับวิธีคิดและวิธีตัดสินใจของเขากันบ้าง ผมเชื่อว่าน่าจะมีหลากหลายแนวคิดเลย ลองมาแชร์ไอเดียก็ได้ว่า “ถ้าคุณเป็นเขา จะทำอย่างไร”

ที่มา : https://medium.com/

 

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง