เป็น IT Freelance จะคิดค่าจ้าง อย่างไรดี

14-ก.ย.-17

คัมภีร์เทพ IT

        ผู้แต่งบทความคือ คุณ Takuya Matsuyama (อาชีพ Freelance) ได้เขียนบทความนี้ขึ้น โดยได้เล่าถึงความเป็นมาที่ได้เริ่มทำอาชีพ Freelance อยู่ในกรุงโตเกียวมา 6 ปี ในฐานะ Full-Stack Developer เขามีปะสบการณ์ทำงานทั้งกับลูกค้าที่เป็นบริษัทและลูกค้าทั่วไป และมักจะได้ร่วมทำงานให้กับบริษัท Startup อยู่บ่อยๆ โดยเริ่มต้นจากการประชุมกับลูกค้า พร้อมกับนำเสนอสิ่งที่เขาสามารถทำให้กับโปรเจคงานของลูกค้าได้ ซึ่งขอบเขตของงานที่นำเสนอก็ขึ้นอยู่กับโปรเจคงานนั้นๆ เช่น การออกแบบ UI, การสร้าง Front-end / Back-end, Mobile App, การจัดการฐานข้อมูล, การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น เมื่อลูกค้าตกลงในขอบเขตงานแล้ว ถึงจะทำใบเสนอราคา

 

        โดยส่วนใหญ่ Freelancer มักชอบคิดค่าจ้างเป็นรายชั่วโมง (Hourly based)  แต่เขาแนะนำว่า ถ้าคุณเป็น Developer ที่มีประสบการณ์สูง ก็อยากให้ลองคิดดูใหม่ โดยควรมองถึงผลลัพธ์ที่ลูกค้าต้องการด้วยการคิดค่าจ้างรายโปรเจค(Project based)   ไม่ใช่มองแค่เวลาที่คุณทำงาน การคิดราคาแบบนี้มันทำให้เขามีเวลามากขึ้นสำหรับทำโปรเจคงานของลูกค้าทั่วไป พอเขาทำงานเสร็จเร็วแถมมีประสิทธิภาพ ลูกค้าก็พอใจ เพราะลูกค้าได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการแล้ว คราวนี้คำถามคือ แล้วจะคิดค่าจ้างอย่างไรดีล่ะ? มันไม่มีสูตรตายตัว ไม่มีกฎ และไม่มีวิธีที่สมบูรณ์แบบหรอก แต่มันก็มีเกณฑ์ที่ใช้พิจารณาในการตั้งราคาอยู่ ดังนี้

 

  • มั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเอง
    หลังจากทำความเข้าใจกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการแล้ว คุณควรพิจารณาว่างานของคุณจะมีลักษณะอย่างไร และอย่าลืมประเมินตามเกณฑ์ 4 ข้อนี้ ได้แก่ ความมีประสิทธิภาพของงาน, ความเร่งด่วนของงาน, ความเชี่ยวชาญ/พิเศษของงาน และความมีประสิทธิผลของงาน แต่สิ่งสำคัญ คือคุณต้องมีราคาที่คุณต้องการไว้ในใจ ก่อนที่คุณจะคิดถึงเกณฑ์เหล่านี้ นั่นคือคุณคาดหวังว่าลูกค้ารายนี้จะจ่ายเท่าไหร่ เพราะราคาที่มีในใจนี่แหละ ที่จะมีผลต่อความมั่นใจของคุณเป็นอย่างมาก การขาดความมั่นใจของคุณจะทำให้คุณตั้งราคาต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพราะคุณต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบในงานของคุณ คุณจำเป็นต้องมีความมั่นใจในตัวเองที่มากเพียงพอจากประสบการณ์ที่คุณประสบความสำเร็จในงานที่ผ่านมาให้มากที่สุด เพื่อที่คุณจะสามารถเสนอราคาที่คุณคิดไว้ได้เหมาะสม ดังนั้น จงเชื่อมั่นในตัวเองซะ

 

  • รู้ราคาตลาดอย่างคร่าวๆ ของเนื้องานที่จะทำ
    ถึงคุณจะมีราคาในใจแล้ว แต่มันจะดีกว่าถ้าคุณรู้ราคาตลาดอย่างคร่าวๆ เพื่อสนับสนุนว่า ราคาที่คุณต้องการมีความเหมาะสมแล้ว ที่สำคัญ ไม่ควรเอาเงินเดือนของคุณจากการทำงานประจำมาเป็นเกณฑ์ เนื่องจากเงินเดือน ไม่ได้รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่า Office space, ค่าสวัสดิการต่าง หรือ งบประมาณที่ซื้อ Laptop ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนทำ Freelance ต้องจ่ายเอง ดังนั้น คุณควรคิดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ รวมลงไปตอนเสนอราคาให้ลูกค้าด้วย ในการจะหาราคาตลาด คุณอาจสืบจากเพื่อนของคุณที่ทำงาน Freelance อยู่ ขณะเดียวกันอย่าลืมพิจารณาปัจจัยแวดล้อมอื่นด้วย เช่น งานนั้นใช้ทักษะอะไร ฝีมือของเพื่อน (ที่ใช้อ้างอิง) คุณหรือเพื่อนพักอยู่ย่านไหน (เพราะค่าครองชีพแต่ละแห่งก็แตกต่างกันไป) เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การตั้งราคาของคุณมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น

 

  • กำหนดว่าจะตั้งราคาเท่าไร
    คุณยังจำเกณฑ์ 4 ข้อที่ได้เคยเกริ่นไว้ในช่วงต้นได้ไหม ตอนนี้เราจะมาดูรายละเอียดในแต่ละข้อกัน

    เกณฑ์ที่ 1: ความมีประสิทธิภาพของงาน
    มันดูไม่สมเหตุผลสมผลนัก ถ้าคุณจะใช้เรื่องเวลามาเป็นเกณฑ์ในการตั้งราคาในเมื่อคุณทำงานเสร็จเร็วกว่าคนอื่นถึง 3 เท่า สำหรับ Full-stack developer มีข้อได้เปรียบตรงมีค่าใช้จ่ายในการติดต่อสื่อสารน้อยกว่าลักษณะงานอื่น เพราะสามารถออกแบบ UI ด้วย Code ได้โดยตรง และไม่จำเป็นต้องใช้ Mock-up ซึ่งค่าใช้จ่ายที่ลดลงในส่วนนี้ ควรพิจารณาเป็น Value ที่ลูกค้าจะได้รับแทน

    เกณฑ์ที่ 2: ความเร่งด่วนของงาน
    หากลูกค้าอยากให้คุณทำงานให้เสร็จเร็วๆ คุณสามารถเรียกเก็บเงินจากส่วนนี้ได้ ที่ผ่านมาคุณ Takuya เคยรับงานสร้าง Android App. ซึ่งต้องทำให้เสร็จในหนึ่งสัปดาห์ ซึ่งมันก็มีความเสี่ยงที่จะรับงานด่วนดังกล่าว เพราะคุณอาจทำมันไม่เสร็จในเวลาที่กำหนด ดังนั้น ตราบใดที่คุณยังไม่มั่นใจมากพอว่าจะทำเสร็จ ก็ยังไม่ควรรับงานในลักษณะนี้

    เกณฑ์ที่ 3: ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ/ทักษะพิเศษหรือไม่
    มีคนมากมายที่สามารถสร้างเว็บไซต์โดยใช้ WordPress ได้ซึ่งไม่ต้องใช้ทักษะพิเศษอะไรมากนัก แต่ในทางตรงกันข้าม การสร้างระบบจดจำใบหน้า หรือระบบให้คำแนะนำ กลับต้องใช้ทักษะพิเศษมากกว่า ซึ่งคุณสามารถคิดเงินจากการที่ต้องใช้ทักษะพิเศษเหล่านี้ได้ มันไม่เกี่ยวว่างานนี้จะยากหรือง่ายสำหรับคุณ แต่มันอยู่ที่ว่ามีคนที่ทำได้แบบคุณสักกี่คน คุณอย่าลืมว่า “เวลา”ที่คุณใช้ในการเรียนรู้หรือเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในทักษะเฉพาะทางเหล่านี้ ก็ให้ถือเป็นต้นทุนที่คุณก็ต้องจ่ายไปด้วยเช่นกัน

    เกณฑ์ที่ 4: ความมีประสิทธิผลของงาน
    เรื่องนี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ เนื่องจาก Developer แต่ละคนจะมีผลงานที่แตกต่างกันไป คุณภาพของผลงานจะขึ้นอยู่กับว่าใครเป็นคนทำ ผลงานของคุณจะมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้นหากสามารถตอบสนองผู้ใช้งานได้ดี หรือการได้รับความสนใจ ถูกนำไปเผยแพร่บอกต่อกันในวงกว้าง แต่คุณจำเป็นต้องสร้างความสำเร็จขึ้นมาให้ได้ก่อน เพื่อจะได้พิสูจน์ให้ลูกค้าเห็นว่า พวกเขาสามารถไว้วางใจในผลงานของคุณได้ อย่างคุณ Takuya เองมีความสามารถในการพัฒนา App. ที่ง่ายต่อการใช้งานจริง หลักฐานของผลงาน ก็คือ มียอดดาวน์โหลด App. ไปใช้งานกว่า 130,000 ครั้งเลยทีเดียว

     
  • อย่าคิดมูลค่าตนเองต่ำกว่าเกิน
    4 ข้อข้างต้น ไม่ได้มีสูตรหรือแบบฉบับที่ชัดเจนในการคิดราคาเลย มันเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ แต่เราสามารถนำมาวัดได้ว่าจะตั้งราคาเท่าไรดี คุณสามารถสร้างความเชื่อใจให้กับลูกค้ามากขึ้นด้วยการลดราคาโปรเจคลงเล็กน้อย แทนการเรียกเก็บเงินแยกเป็น 3 ครั้งซึ่งราคาจะสูงกว่าในขณะที่สามารถทำงาน 3 ครั้งนั้นได้ดีและเร็วกว่า คุณไม่ควรตีราคาให้ต่ำเกินไปหรือพยายามให้มันพอดีกับงบของลูกค้า เพราะสุดท้ายคุณก็ไม่ได้รู้สึกพอใจกับงานนั้นจริงๆ แถมส่งผลให้ขาดแรงจูงใจและคุณภาพของงานก็ลดลงด้วย พอผลงานออกมาไม่ดีลูกค้าก็คงไม่พอใจเช่นกัน กรณีที่ลูกค้ามีงบประมาณน้อย คุณสามารถแนะนำให้ลูกค้าลดสเปคของงานลงอีกนิดหน่อย โดยลองเสนอราคาไปก่อนพร้อมอธิบายเหตุผลไป จากนั้นค่อยดูปฏิกริยาว่าลูกค้ารู้สึกอย่างไร

     
  • เกณฑ์ต่างๆ จะบอกคุณเองว่าควรทำอย่างไรต่อ
    เชื่อว่าคุณคงอยากมีรายได้ที่สูงขึ้นในขณะที่ใช้เวลากับมันน้อยลงใช่ไหม เกณฑ์ข้างต้นจะเป็นตัวบอกเองว่าคุณควรจะทำอย่างไรต่อไป คุณควรจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้รับความยืดหยุ่นในการทำงานเพิ่มขึ้น มีความเชี่ยวชาญและมีจำนวนงานที่ทำแล้ว success เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ การรับงานที่ใช้ทักษะเฉพาะทางมากขึ้น ก็สามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ วิธีการที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้มากขึ้น คือลองรับงานในพื้นที่อื่นๆ ดูบ้าง อย่างคุณ Takuya เอง เขาก็รับงานจากแคลิฟอเนียมากขึ้นเช่นกัน

 

ทีมงาน TechStar เชื่อว่า บทความนี้ จะเป็นประโยชน์ต่อคนไอทีที่กำลังทำงาน Freelance ควบคู่กับงานประจำ หรือทำ Freelance เป็นอาชีพหลัก ลองนำแนวคิดเหล่านี้ไปปรับใช้กับคุณดูสิครับ

 

ที่มา: hackernoon.com

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง