How to adapt yourself when working with Gen X
25-Jul-17
คัมภีร์เทพ IT

เชื่อว่าปัจจุบันคนทำงานในองค์กรหลายแห่งส่วนใหญ่อยู่ในช่วง Gen X และ Y และเมื่อคนไอทีหลายคนที่อยู่ช่วง Gen Y ซึ่งต้องทำงานกับรุ่นพี่หรือผู้บริหารที่เป็น Gen X (หรืออาจมีกลุ่ม Baby Boomer อยู่บ้าง) อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง ไม่ลงรอยกัน ด้วยความแตกต่างของวัย ความคิด และทัศนคติ ทีมงาน TechStar จึงมีแนวทางการปรับตัวให้คนไอทีรุ่นใหม่ๆ สามารถทำงานร่วมกับเพื่อร่วมงานต่างวัย โดยเพาะคนใน Gen X เพื่อลดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในที่ทำงานและช่วยให้การทำงานราบรื่นขึ้น
- เข้าใจในความต่างวัย
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ การทำความเข้าใจและเคารพในความแตกต่างของวัย ก่อนอื่นคนไอทีต้องเข้าใจก่อนว่า คน Gen X เกิดมาในยุคที่เทคโนโลยียังไม่เจริญมาก ทำงานหนัก รักความมั่นคง ทำตามกฏเกณฑ์ ในขณะที่คน Gen Y อย่างเราๆ โตมาพร้อมการเติบโตของเทคโนโลยี ไม่ค่อยชอบอยู่ในกฎเกณฑ์ และรักความอิสระ ตัวอย่างเช่น หัวหน้างานอาจให้ความสำคัญกับการเข้างานตรงเวลา และเห็นว่า การมาสายแสดงถึงความไม่รับผิดชอบต่องาน ในขณะที่คนทำงาน Gen Y ต้องการอิสระและความยืดหยุ่นของเวลาในการทำงาน แต่ก็สามารถรับผิดชอบงานให้เสร็จตามกำหนดตามที่ได้รับมอบหมายได้ เป็นต้น มุมมองทั้งสองด้านมีมีอะไรผิดหรือถูก แต่เป็นสิ่งที่ต้องปรับจูนและพบกันคนละครึ่งทาง
- “อิสรภาพ” มาพร้อม “ความรับผิดชอบ”
คน Gen Y ส่วนใหญ่รักในความอิสระ อยากทำอะไรในสิ่งที่ตัวเองชอบ เมื่อคน Gen Y ต้องทำงานร่วมกับคนอายุมากกว่า ก็ต้องหาทางประยุกต์รูปแบบการทำงาน โดยอาจขอทำงานในส่วนของตัวเองแบบอิสระ แต่ยังคงรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเอง เพราะเมื่อคุณมีความรับผิดชอบต่องานอย่างไม่ขาดตกบกพร่องแล้ว คุณก็จะได้รับความไว้วางใจจากหัวหน้า ทำให้หัวหน้าจะได้ไม่ต้องมาจ้ำจี้จ้ำไชคุณ เช่น คุณเป็น Developer แต่อยากวางกรอบการทำงานเอง เมื่อคุณขอหัวหน้าแล้ว คุณก็ควรทำให้ได้ตามที่แพลนไว้ แบบนี้หัวหน้าก็จะเบาใจ ปล่อยให้ทำงานไปโดยไม่ต้องมาตามงานเป็นระยะ แบบนี้เรียกว่า Happy ทั้ง 2 ฝ่าย
- กล้าแสดงความคิดเห็น
คน Gen Y เป็นกลุ่มคนที่มีความคิดเป็นของตัวเอง มีความคิดแปลกใหม่สร้างสรรค์ จนบางครั้งอาจจะเป็นความคิดที่คน Gen X คาดไม่ถึง หากคุณไม่ทำให้หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานที่อายุมากกว่าเข้าใจและคล้อยตามคุณ ก็จะกลายเป็นมีความคิดขัดแย้งกันได้ การแสดงไอเดียใหม่ๆ ควรมาพร้อมกับการอธิบายถึงประโยชน์ที่บริษัทจะได้รับ มันดีอย่างไรต่อคนทำงาน ต่อแผนก หรือต่อองค์กร เช่น IT Support เสนอให้ใช้ระบบ IT ในการ Track การทำงาน นอกจากหัวหน้าจะเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายแล้ว ยังทราบปัญหาได้รวดเร็ว และรู้ว่างานโหลดมากน้อยแค่ไหน จะได้จัดการได้ทันท่วงที เป็นต้น แบบนี้เชื่อว่าหัวหน้าที่ไหนก็คงยอมรับไอเดียนั้นๆ แน่นอน
- เปิดใจรับฟังคำวิจารณ์
ในการทำงานย่อมมีความคิดเห็นขัดแย้งกันบ้าง ไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเมื่อเราทำงานผิดพลาด หรือเสนอแนะไอเดียอะไรไปแล้วคนอื่นไม่เห็นด้วย เราก็ต้องยอมรับในคำวิจารณ์ของหัวหน้าหรือคนอื่นๆ ได้ และหากเราจะมีข้อโต้แย้งก็ควรใช้เหตุผลมาสนับสนุน เช่น คุณส่งงานช้ากว่ากำหนด หากหัวหน้าจะตำหนิหรือวิจารณ์การทำงานของคุณ ก็ต้องรับฟังและยอมรับ แล้วค่อยอธิบายสาเหตุว่าเพราะอะไร เพื่อหัวหน้าจะได้เข้าใจว่าคุณมีอุปสรรคหรือเจอเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดอะไรบ้าง เป็นต้น
- รู้จักวางตัว
เมื่อมีช่องว่างระหว่างวัย สิ่งที่ต้องระวังไว้เสมอคือ การวางตัวให้เหมาะสม ความสนิทสนมควรเป็นไปในทางที่เหมาะสม ในฐานะรุ่นน้องไม่ควรพูดจาเล่นหัวผู้ใหญ่ จะทำอะไรก็ควรรู้จักให้เกียรติผู้ใหญ่ เพื่อแสดงให้เห็นว่า คุณก็เป็นมืออาชีพในการทำงาน รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร ถึงอายุจะน้อยกว่าแต่ก็ทำตัวเป็นผู้ใหญ่คิดแบบผู้ใหญ่ เวลาทำงานคนอื่นจะเชื่อใจคุณ
การปรับตัวในที่ทำงาน เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอ จะปรับตัวมากหรือน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล วันหนึ่งคุณก็ต้องเป็นผู้ใหญ่ที่มีลูกน้องรุ่นใหม่ๆ เข้ามาทำงานด้วย หากคุณเรียนรู้และทำได้เสียตั้งแต่วันนี้แล้ว ในอนาคตข้างหน้าคุณก็จะได้เข้าใจคนรุ่นใหม่ได้ดียิ่งขึ้นและสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา
อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ
|
บทความที่เกี่ยวข้อง