3 เรื่อง “พลาด” ของ Programmer เมื่อต้องสัมภาษณ์งาน

25-ก.ค.-17

การสัมภาษณ์งาน

 

        ในการสมัครงานกับบริษัทชั้นนำหรือมีชื่อเสียง แน่นอนว่ามักจะมีอัตราการแข่งขันสูง ดังนั้นหากคนไอทีต้องการทำงานในองค์กรเหล่านั้น อย่างน้อยคุณควรรู้ Mission ขององค์กรนั้นๆ และคุณจะต้องแสดงผู้สัมภาษณ์งานเห็นว่า คุณคือ “คนที่ใช่และเหมาะสม” กับตำแหน่งงานที่กำลังสมัคร หากคุณเป็น Programmer และกำลังอยู่ในช่วงหางานอยู่ อยากให้อ่านบทความนี้ เพราะ 3 ข้อผิดพลาดนี้ มักเกิดขึ้นกับ Programmer ระหว่างการสัมภาษณ์งาน

 

  1. ไม่ทำการบ้าน
    แม้ว่าคุณมีนัดรอสัมภาษณ์อยู่หลายแห่ง แต่อย่าลืมสิ่งที่สำคัญคือ คุณต้องเตรียมตัว “ทำการบ้าน” เกี่ยวกับบริษัทที่กำลังจะไปสัมภาษณ์งาน ศึกษาและอ่านรายละเอียดที่เกี่ยวข้องว่า บริษัทหรือองค์กรนั้นเป็นแบบใด เช่น ประเภทธุรกิจ เป้าหมายองค์กร สิ่งที่บริษัทต้องการทำให้สำเร็จ มีอะไรบ้าง เพราะสิ่งเหล่านี้คือหัวใจหลักที่คุณจะสามารถสอบถามได้เจาะจงมากขึ้น คนไอทีหลายๆ คนอาจจะมองว่า เรื่องนี้ไม่เห็นจะเป็นเรื่องใหญ่อะไรที่จะต้องมา Focus มากมาย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ผู้สัมภาษณ์หลายคน กำลังพิจารณาคุณอยู่ว่า คุณมีทัศนคติไปในแนวทางเดียวกันและพร้อมเติบโตไปกับบริษัทหรือไม่ แต่ที่แน่ๆ สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์ได้เห็นคือ คุณเป็นคนที่เตรียมความพร้อมก่อนมาสัมภาษณ์งาน นอกจากนี้ การที่คุณได้แชร์สิ่งที่คุณรู้หรือพูดคุยประเด็นต่างๆ กับผู้สัมภาษณ์งานถือเป็นโอกาสที่ดีที่คุณจะได้โชว์ทักษะการสื่อสาร (Communication skill) และทักษะเกี่ยวกับการมีมนุษยสัมพันธ์ของคุณต่อบุคคลอื่น (Interpersonal skill) อีกด้วย ซึ่งไม่ว่าจะเป็น ทักษะด้านเทคนิคของไอที ความรู้ในสายงานและการรู้ถึงภาระกิจของบริษัท ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินเลือกผู้สมัครงาน

     
  2. ลืมฝึกซ้อม
    แน่นอนว่าก่อนคุณจะไปสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์งานเขาเห็นข้อมูลคุณใน Resume แล้ว หน้าที่ของคุณคือ ฝึกซ้อมพูดเกี่ยวกับตัวคุณ เส้นทางอาชีพ เป้าหมาย ปัจจุบันคุณอยู่จุดใดของสายอาชีพและเป้าหมายแล้ว และทำไมคุณถึงอยากทำงานกับบริษัทนี้ ที่สำคัญอย่าลืมฝึกซ้อมเล่าเรื่องประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาที่คุณคิดว่าเจ๋งๆ หรือน่าสนใจ สิ่งที่คุณได้เรียนรู้ ทักษะต่างๆ ที่คุณได้รับระหว่างทางมีอะไรบ้าง ตัวคุณเองมีการพัฒนาแล้วดีขึ้นบ้าง นอกจากนี้อย่าลืมซ้อมพวกคำถามอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวกับไอที เช่น เวลาว่างจากการทำงานคุณทำอะไรบ้าง หรือ เมื่อเจอกับปัญหาหรืออุปสรรค คุณทำสิ่งใดเป็นลำดับแรก แล้วผ่านมันไปได้อย่างไร เป็นต้น อย่าลืมเด็ดขาดว่า แม้เรื่องทั่วไปผู้สัมภาษณ์เขาก็อาจจะถามคุณได้ทุกเมื่อ ดังนั้น ลองคาดเดาหรือฝึกเล่าเรื่องของตัวเองในทุกแง่มุม เพราะคุณจะได้ตอบใน Scope ที่เหมาะสมและลื่นไหล แต่หากเจอคำถามไม่ได้เตรียมไว้ก็ตั้งสติ อย่าลน หยุดคิดสักครู่ แล้วค่อยตอบคำถามให้ตรงประเด็นและครบถ้วน

     
  3. ไม่กล่าวถึงรายละเอียดในเชิงลึก
    เป้าหมายหลักในการสัมภาษณ์คือ คุณต้องพยายามนำเสนอตัวเองว่า มีทักษะและประสบการณ์ด้าน Programming อะไรมาบ้าง จึงควรโฟกัสในเรื่องทางด้านเทคนิคให้มาก แล้วอธิบายให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย ถ้าเจอคำถามยากๆ ก็ให้รีบประมวลคำตอบออกมาให้เร็วและครบถ้วนเท่าที่คุณจะทำได้ สิ่งที่ผู้สัมภาษณ์อยากรู้คือรายละเอียดในเชิงลึก ไม่ว่าจะเกี่ยวกับความรู้ด้านไอทีหรือประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาของคุณ ซึ่งเทคนิคที่จะทำให้ผู้สัมภาษณ์ประทับใจตัวคุณคือ คุณสามารถแชร์ข้อมูลที่มันเป็นประโยชน์ต่อบริษัทหรือความรู้ใหม่ๆ ที่น้อยคนจะรู้ให้เขาได้ทราบ มีการตั้งสมมติฐานที่เชื่อมโยงกับงานหรือธุรกิจ รวมถึงเสนอทางออกที่แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ที่ดีที่จะตามมา หรือสามารถช่วยลดความเสียหายและทำให้ธุรกิจดำเนินงานได้รวดเร็วและง่ายขึ้น แบบนี้คุณจะสร้างความประทับใจให้ผู้สัมภาษณ์ได้มากกว่าคนอื่นอย่างแน่นอน ฟันธง!

 

        “ความพร้อม” ถือเป็นสิ่งที่สำคัญในการสัมภาษณ์งาน อย่าลืมว่าคุณมีคู่แข่งที่เก่งๆ อีกหลายคนที่เขาอยากได้ตำแหน่งงานที่คุณสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์งานเขาก็มีสิทธิ์เลือกคนที่เขาเห็นว่าเหมาะสมมากที่สุด ดังนั้น ในเมื่อผู้สัมภาษณ์งานเขาอยากได้คนทำงานที่ รู้ลึก รู้จริง และทำได้จริง คุณก็เพียงแสดงให้เขาเห็นว่า คุณสามารถทำได้และเหมาะกับตำแหน่งงานนั้น คุณก็มีโอกาสได้รับตำแหน่งงานนั้นไป

 

ที่มา: stackoverflow.blog

 

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง