พลาดโอกาสได้คน IT เก่งๆ เพราะ “อคติ” (โดยไม่รู้ตัว)

09-พ.ค.-17

HR insights

เคยไหม? เวลาเห็นใครสักคนแล้วรู้สึกไม่ถูกชะตาไม่ชอบขี้หน้า ทั้งๆ ที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อนด้วยซ้ำ หรือกับบางคนเพิ่งเจอกันครั้งแรกก็รู้สึกชอบอยากเข้าไปคุยทำความรู้จัก เรื่องแบบนี้แหละที่เค้าเรียกกันว่า “อคติ” หรือ ความลำเอียง ซึ่งเป็นเรื่องที่มีกันแทบจะทุกคน (แต่เรามักจะไม่รู้ตัว)

“อคติ” คือ การสร้างข้อจำกัดในกระบวนการทางความคิดที่ทำให้สิ่งที่เรารับรู้ มองเห็น หรือ ตัดสินใจ ไม่ได้เป็นไปตามหลักการและเหตุผลที่ถูกต้อง และมักจะเกิดขึ้นแบบที่เราไม่รู้ตัวที่เรียกว่า “Unconscious Bias” หรือ เกิดอคติโดยไม่รู้ตัว

ในงานด้าน HR ที่ต้องทำหน้าที่สรรหาและตัดสินใจเพื่อเลือกใครสักคนเข้ามาทำงานในองค์กร เรื่องนี้ถือเป็นสิ่งที่ต้องระวังให้มาก การเลือกบุคลากรจากอคติ เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจลักษณะการทำงาน หรือแม้แต่ไลฟ์สไตล์การทำงานของพนักงาน โดยเฉพาะคนที่ทำงานสายไอทีซึ่งมีลักษณะของงานที่แตกต่างจากพนักงานในแผนกอื่นๆ อย่างชัดเจน เช่น Helpdesk, โปรแกรมเมอร์, กราฟฟิกดีไซน์เนอร์ เป็นต้น บุคลิกลักษณะของคนที่จะมาทำงานตรงนี้ได้ดี อาจจะไม่ใช่คนที่เรารู้สึกชอบก็ได้

มาเช็คกันหน่อยซิว่า  คุณมีเคยหรือกำลังมี “Unconscious Bias” ตรงกับข้อไหนบ้าง?

  1. Halo Effect – อคติจากการยึดเอาข้อมูลด้านบวกที่เห็น ไปเหมารวมเลยว่าคนคนนี้ดี/เหมาะสม
  2. Horns Effect – อคติจากการยึดเอาข้อมูลด้านลบที่เห็น ไปเหมารวมเลยว่าคนคนนี้ไม่ดี/ไม่เหมาะสม
  3. Conformity Bias – อคติจากการคล้อยตามความคิดเห็นของคนอื่น
  4. Beauty Bias – อคติจากการพิจารณารูปลักษณ์/คุณสมบัติที่พบเห็นภายนอก
  5. Affinity Bias – อคติจากการมีประสบการณ์หรือส่วนร่วมบางอย่างที่เหมือนกันกับคนอื่น
  6. Attribution Bias – อคติจากการอ้างเหตุผลเพื่อยกย่องชื่นชมตนเองหรือทำให้ตัวเองรู้สึกดี
  7. Confirmation Bias – อคติจากการหาสิ่งอื่นเพื่อมายืนยันความคิดหรือสมมติฐานของตนเองว่าถูกต้องแล้ว
  8. Similarity Bias – อคติจากการเลือกคนที่มีลักษณะหรือความคิดเห็นไปในทางเดียวกันกับตัวเรา
  9. Contrast Effect – อคติจากการเปรียบเทียบกับคนอื่นแทนการเทียบกับมาตรฐานหรือเป้าหมาย

 

การใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสิน เพราะความไม่รู้ ไม่เข้าใจ หรือขาดหลักเกณฑ์ที่จะใช้พิจารณามากพอ อาจทำให้องค์กรพลาดโอกาสดีๆ ที่จะได้คนไอทีที่เก่งๆ มาทำงานอย่างน่าเสียดาย ดังนั้น ในฐานะที่คุณเป็น HR จึงควรรู้ทันความคิดตัวเอง และนี่คือแนะนำ 4 ข้อ ที่จะช่วยให้คุณตัดสินใจจากความรู้ ความเข้าใจ โดยปราศจากอคติ
 

  1. สังเกตและสอบถาม
    ในเมื่อคุณไม่ค่อยรู้รายละเอียดของเรื่องและคนไอที คุณก็ต้องหาความรู้และทำความเข้าใจลักษณะงานของไอที ว่าตำแหน่งนี้ต้องการคนมีทักษะอะไร คนไอทีที่จะมาทำตำแหน่งนี้ต้องมีลักษณะอย่างไรบ้าง ซึ่งวิธีหาคำตอบที่ดีที่สุดคือ ต้องไปคุย ขอความคิดเห็นของ IT Manager หรือถ้าหากทำได้จะดีมากๆ คือ ลองเข้าไปคลุกคลี พูดคุย สอบถาม และสังเกตลักษณะแนวความคิด สไตล์การใช้ชีวิตของคนไอทีให้บ่อยขึ้นดู เชื่อว่า คุณจะเริ่มจับทางคนกลุ่มนี้ได้มากขึ้นอย่างแน่นอน

     
  2. ตั้งเกณฑ์ที่เป็นรูปธรรม 
    เพื่อป้องกันการใช้ความรู้สึกตัดสินที่มากเกินไป ลองตั้งเกณฑ์การให้คะแนนหรือรูปแบบที่ใช้วัดที่เป็นรูปธรรมมากขึ้นดีไหม เช่น กำหนด Personality ที่เหมาะกับองค์กร หรือทำ Check List ของ Requirements งานแต่ละตำแหน่งดู อย่าทำแค่ช่องให้สรุปความคิดเห็นอย่างเดียว เพราะมิเช่นนั้น HR เองก็คงวกกลับไปใช้ความรู้สึกในการตัดสินคนอยู่ดี

     
  3. รับฟังความคิดเห็น 
    ก่อนตัดสินใจเลือกใครว่าเหมาะหรือไม่เหมาะ อย่าลืมที่จะขอความเห็นจากบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย เช่น IT Manager หรือ คณะผู้เข้าร่วมสัมภาษณ์ ต้องมานั่งคุยกันร่วมกันสรุป แล้ว HR เองก็จะได้เห็นมุมมองที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจ อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสบการณ์พร้อมทั้งได้ความรู้เพิ่มเติมในการสรรหาคนไอทีในอนาคตอีกด้วย

     
  4. เรียนรู้ความแตกต่างะหว่างบุคคล 
    ถ้าคุณอยากเป็น “HR มืออาชีพและก้าวหน้าในสายงานนี้” คุณก็ควรจะทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ให้ดี บางที “ความต่างและหลากหลายของบุคคล” ก็ส่งผลดีต่อองค์กรได้ เช่น หากคนไอทีที่บริษัทคุณเป็นคนสื่อสารไม่เก่งบวกกับไม่ค่อยกล้าแสดงความเห็นเลย คุณก็ลองหาคนไอทีที่โดดเด่นด้านการสื่อสารและกล้าแสดงความเห็นเข้ามาสิ เรียกง่ายๆ คือ เลือกคนที่แตกต่างมา แล้วคุณก็ลองดู Feedback จาก IT Manager ดู ว่าผลเป็นอย่างไรบ้าง ช่วงแรกๆ อาจจะเกิดปัญหาจากคนเก่าๆ ที่ไม่เคยชินอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าในระยะยาว ตัวคนไอทีเองน่าจะมีการปรับจูนกัน ปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้นได้

     

Recruitment Process ถือเป็นด่านแรกๆ ในการสรรหาบุคคล ถ้า HR “เลือกผิด” ตั้งแต่แรก ก็มีความเป็นไปได้สูงว่า ต่อไปมันก็จะเกิดปัญหาทั้งในระยะสั้นและระยะยาวต่อองค์กร เปรียบเหมือน พอคุณติดกระดุมเม็ดแรกผิด คุณก็จะติดผิดต่อไปทั้งแถว แล้วคุณอยากเป็นหนึ่งในสาเหตุของปัญหาเหล่านี้หรือ???

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง