โปรแกรมเมอร์ไทย ไม่แพ้ชาติใดในโลก

23-ก.พ.-17

IT Insider

 

หลายคนอาจคิดว่าการสร้างโปรแกรมเมอร์คุณภาพระดับโลกนั้นไม่สามารถทำได้ในไทย แต่ผมคิดว่า “มันไม่จริง” และปัญหาใหญ่เป็นเรื่องของ “ทัศนคติ” ในฐานะที่ผมเป็นโปรแกรมเมอร์ที่เกิดและโตในประเทศไทย มีโอกาสอยู่ในสังเวียนของการพัฒนาซอฟท์แวร์ตั้งแต่เด็ก ทั้งในและนอกประเทศ ผมคิดว่าการพัฒนาคนและธุรกิจด้านเทคโนโลยีในไทยให้ทัดเทียมต่างชาตินั้น เป็นเรื่องที่ทำได้และไม่ได้มีอะไรพิสดารไปจากสิ่งที่ทุกคนพอรู้อยู่แล้ว ผมขออธิบายให้ชัดเจนมากขึ้นด้วยการสรุปออกมาเป็น 4 ประเด็นหลักดังนี้ครับ

 

1. คลังความรู้ในเมืองไทย

โปรแกรมเมอร์ชั้นหัวกะทิทุกคนต้องเริ่มจากการเขียนโค้ดบรรทัดแรก ตัวผมเองเริ่มเขียนโค้ดบรรทัดแรกจากการอ่านหนังสือเขียนโปรแกรมภาษา Pascal ในห้องสมุดของโรงเรียน ในสมัยนั้นห้องสมุดมีหนังสือเขียนโปรแกรมอยู่ไม่กี่เล่ม แต่ผมก็ได้อ่านครบทุกเล่ม พอหมดห้องสมุดโรงเรียนก็ไปห้องสมุดแห่งชาติ และอ่านตามร้านขายหนังสือ คลังความรู้ในไทยอาจไม่หวือหวา แต่ถ้าดูที่ตัวเนื้อหาจริงๆ แล้ว ก็ไม่ต่างจากสิ่งที่นักเรียนในอเมริกาเค้าเรียนกัน เพราะภาษาโปรแกรมเป็นภาษามาตรฐานและอาจารย์ที่เขียนหนังสือในไทยก็สามารถทอดถ่ายข้อมูลเหล่านั้นได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน

ยิ่งสมัยนี้มีอินเทอร์เน็ต ทำให้เข้าถึงความรู้ง่ายขึ้น คำกล่าวที่ว่าอยู่ประเทศไทยขาดโอกาสในการเรียนรู้ อาจจะไม่ถูกสักเท่าไหร่ การเข้าถึงความรู้ได้มากน้อยแค่ไหนมันอยู่ที่ “ใจ” ของเรามากกว่า ลองถามใจคุณดูว่า โหยหาความรู้มากแค่ไหน?

สายงานด้านเทคโนโลยี ยิ่งตัวงานพัฒนาขึ้นไปสูงเท่าไหร่ ยิ่งต้องมีความเชี่ยวชาญที่เฉพาะเจาะจงมากขึ้นเท่านั้น ความกระตือรือร้นในการเรียนรู้เรื่องใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา จึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคนที่ต้องการทำงานสายนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บางคนอาจจะบอกว่า อ่านหนังสือเองบางทีไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ (ตัวผมเองบางครั้งก็เป็น) เรื่องนี้ต้องใช้ “ตัวช่วย” สังคมและคนรอบข้างช่วยเราได้

 

2. สังคมและคนรอบข้าง

บางคนบอกว่า สภาพแวดล้อมในประเทศไทยไม่อำนวยต่อการพัฒนาโปรแกรมแกรมเมอร์ แต่ถ้าเราเปลี่ยนโฟกัสไปที่จุดดีๆ ในประเทศ คุณจะพบว่า ประเทศไทยยังมีคนเก่งอยู่อีกมากที่คุณสามารถขอคำปรึกษาได้ ข้อดีของสังคมไทยคือเราสนิทกันได้ง่าย นักพัฒนาในไทยเองก็มีการรวมกลุ่มกัน ซึ่งทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนความรู้ และต่อยอดความรู้จากข้อที่หนึ่ง ทำให้สิ่งที่เรียนรู้มาพัฒนาไปรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

ในซิลิคอนวัลเลย์ การพบปะพูดคุยเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างนักพัฒนาสามารถพบเห็นได้ตาม Conference หรือ Meetup ต่างๆ ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีงานในลักษณะนี้เช่นกัน ทั้งกิจกรรมที่จัดขึ้นโดยภาครัฐบาล ภาคเอกชน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ระดับโรงเรียน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าอยากเขียนโปรแกรมเก่งที่สุดในประเทศไทยก็ต้องไปสอบแข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิก หรือ ฝึกผ่าน ACM, Google Code Jam, Facebook Hacker Cup ถ้าสนใจเกี่ยวกับการสร้างเว็บไซต์ก็ต้องไป Young Webmaster Camp ถ้าสนใจเกี่ยวกับ Startup ก็ต้องไปงานที่เกี่ยวกับ Tech, Entrepreneurship ของค่ายต่างๆ เช่น AIS, DTAC, True, HSBC, ฯลฯ

ถ้าได้ไปงานเหล่านี้ คุณก็จะพบว่าคนเก่งในไทยนั้นมีอยู่จริง ถึงแม้ว่าจะมีไม่เยอะเท่าต่างประเทศก็ตาม แต่มันกลับทำให้เราสามารถเข้าถึงคนเก่งๆ ของวงการได้ง่ายขึ้น

 

3. ลงมือทำ

ในสหรัฐอเมริกา ความสามารถในการเขียนโปรแกรมที่ใช้งานได้จริงเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการสร้างผลิตภัณฑ์ทางเทคโนโลยี ต่อให้เรียนจบ Computer Science ในมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งในอเมริกามา นักเรียนจบใหม่ส่วนใหญ่ก็ยังมีประสบการณ์การพัฒนาซอฟท์แวร์ที่อ่อนมาก (ส่วนใหญ่จะเขียนโปรเจคแค่ในเฉพาะวิชาที่เรียน) ซึ่งกว่าโปรแกรมเมอร์หนึ่งคนจะพัฒนาตัวเองขึ้นมาอยู่ในระดับที่ได้รับการยอมรับว่า “เก่ง” เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยประสบการณ์ที่ได้การการลงมือทำงานจริง ดังนั้น ถึงแม้จะอยู่เมืองไทย แต่ถ้าคุณวางแผนที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์อย่างถูกที่ถูกทางก็สามารถเอาชนะคนระดับเดียวกันในอเมริกาได้

จากประสบการณ์ของผม ผมเริ่มฝึกเขียนโปรแกรมจากการเขียนเกมส่งประกวดในประเทศไทย เขียนโปรแกรมทำบัญชีให้ธุรกิจที่บ้าน สร้างเว็บไซต์ให้โรงเรียน สอนเพื่อนๆ และรุ่นน้องเขียนโปรแกรม ชนะงานประกวดซอฟท์แวร์ ลองทำอะไรหลายๆ อย่าง จนตอนนี้ผมสามารถเขียนโปรแกรมได้เป็นสิบภาษา พอผมเรียนจบก็บินไปสัมภาษณ์งานกับบริษัทไมโครซอฟท์สาขาใหญ่ เมนเทอร์ และคนสัมภาษณ์บอกว่า ความคล่องแคล่วของการโชว์เขียนโปรแกรมนั้นผิดปกติ  รู้เยอะ รู้จริงกว่าเด็กจบใหม่มามากๆ ดังนั้นผลงานและความคิดที่ผ่านประสบการณ์เป็นตัวพิสูจน์ที่ดีกว่าสถานที่ที่คุณจบมาอย่างแน่นอน

สิ่งที่ตลาดต้องการจริงๆ คือคนพร้อมทำงานจริง นักพัฒนาไทยควรเน้นฝึกสร้างโปรแกรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง คุณสามารถเริ่มจากในประเทศของเรานี่แหละ (เหมือนอย่างที่ผมทำ) Users จะเป็นคนไทยหรือต่างชาติก็เป็นมนุษย์เหมือนกัน การฝึกสร้างโปรแกรมผ่านทางผู้ใช้งานจริงจึงฝึกกันได้ในไทยเช่นกัน

 

4. ภาษาอังกฤษ

ถ้าคุณได้ภาษาอังกฤษ กรอบกำแพงที่ขวางกั้นในการหาความรู้จากสามข้อข้างบนจะถูกทำลายลง ลองคิดดูว่าชีวิตของเราจะสนุกมากขึ้นแค่ไหน ถ้าหนังสือที่เราอ่านได้ สังคมที่เราคุยด้วย ลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจ จะถูกขยายขึ้นไปเกินภาษาไทย การฝึกภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่วนั้น ไม่ต่างจากภาษาคอมพิวเตอร์ตรงที่ว่าต้องใช้การหมั่นฝึกฝน ภาษาก็ไม่ต่างจากคณิตศาสตร์ กีฬา หรือดนตรี ที่ต่างต้องใช้เวลาในการฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ
 


แบ่งปันประสบการณ์โกอินเตอร์จาก ปรัชญา ไพศาลวิภัชพงศ์

  • CEO และผู้ร่วมก่อตั้ง OmniVirt ผู้ให้บริการเทคโนโลยีโฆษณาในรูปแบบเสมือนจริง (Virtual Reality) ให้กับเว็บไซต์ชั้นนำในอเมริกาอย่าง The New York Times, AOL และ Vice
  • อดีตวิศวกรซอฟท์แวร์ของ Google Inc (California) และ Microsoft Corporation (Washington)
  • จบการศึกษาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และโรงเรียนอัสสัมชัญ กรุงเทพฯ อดีตผู้แทนประเทศไทย แข่งขันคอมพิวเตอร์โอลิมปิกระหว่างประเทศ (IOI) ที่ประเทศสหรัฐฯอเมริกาและกรีซ เหรียญเงินสองสมัย และนำทีมไทยไปสู่ที่หนึ่งของโลกในงานแข่งขัน Microsoft Imagine Cup.
     


หมายเหตุ: รุ่นพี่คนไหนมีเรื่องราวไอทีดีๆอยากแบ่งปัน สามารถอีเมล์มาที่ itrockstar@techstarthailand.com

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง