5 Surprising Interview Questions You Should Be Prepared to Answer

19-Apr-17

Job Interview

เชื่อว่าทุกคนต้องเคยผ่านการสัมภาษณ์งานมาสักครั้งในชีวิต ถ้าให้คุณลองนึกย้อนไป มีอะไรไหมที่คุณอยากกลับไปแก้ไข? หรือรู้สึกว่า “ไม่น่าทำแบบนั้นเลย” “น่าจะทำแบบนี้”...มีใช่ไหมหละ!..ขอแสดงความเสียใจด้วย เพราะคุณกลับไปแก้ไขมันไม่ได้อีกแล้ว แต่ข่าวดีคือ คุณสามารถเก็บเป็นประสบการณ์สำหรับการสัมภาษณ์งานครั้งต่อไปได้ เพราะสเต็ปของการสัมภาษณ์งานแต่ละที่ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมากนัก สิ่งสำคัญที่จะทำให้คุณสามารถผ่านด่านการสัมภาษณ์งานแบบ Professional เค้าทำกัน คือ “การเตรียมตัวที่ดี” เราจะไม่พูดถึงการแต่งกาย การแนะนำตัวเอง หรือการเตรียมคำตอบสำหรับคำถามยอดฮิต เพราะเชื่อว่าเป็นสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว แต่เรากำลังจะมาบอกเรื่องที่ชาวไอทีหลายๆ คนอาจไม่เคยคาดคิดมาก่อน เพื่อเตรียมตัวเตรียมใจกันแต่เนิ่นๆ แบบไม่ต้องไป “Surprise” ในวันที่ต้องไปสัมภาษณ์งาน

 

  1. ทำแบบทดสอบ 
    ส่วนใหญ่ที่มักจะเจอก็เช่น English Test, Personality Test, Aptitude Test เป็นต้น ซึ่งถือว่าเป็นแบบทดสอบทั่วไป และขึ้นกับองค์กรว่าจะทดสอบอะไรบ้าง แต่สำหรับงานไอที อาจมีบางแห่งให้ผู้สมัคร เขียน Flow Chart, เขียน Module การทำงานย่อย เพื่อให้ได้ผลตามที่โจทย์กำหนดไว้ หรือเขียนผลลัพท์ที่ได้จาก Module ในโจทย์ เป็นต้น ดังนั้น ก่อนไปสัมภาษณ์ก็ลองทำแบบทดสอบพวกนี้เผื่อไว้บ้าง จะได้รู้เป็นแนวทางไว้ก่อน

     
  2. เขียนโปรแกรม (จริงๆ) 
    ข้อนี้ที่ถือว่า โหดของจริง เพราะเป็นการให้ Coding และ Run ผลลัพธ์ให้เห็นตอนนั้นเลย ซึ่งใครที่เคยมีประสบการณ์จริง รู้จริง หรือแค่เคยทำ รู้มาคร่าวๆ สามารถวัดกันได้ที่ตรงนี้ แต่โจทย์ที่ตั้งมาจะง่ายหรือยากนั้น ก็อยู่ที่วัตถุประสงค์ของแต่ละองค์กร บางแห่งอาจแค่อยากทดสอบพื้นฐาน แล้วค่อยมา Training กันใหม่ แต่บางแห่งต้องการคนที่รู้ลึกไปเลยชนิดมาถึงก็พร้อมทำงานได้ทันที หากผู้สมัครไม่เตรียมพร้อมหรือไม่รู้จริง ก็คงบอกเลยว่า “บรั้ยยยย!”

     
  3. ผู้สัมภาษณ์งานกับชาวต่างชาติ 
    ด้วยแนวโน้มของโลก คาดว่าคนไอทีมีโอกาสเจอการสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษเพิ่มมากขึ้น ทั้งผู้สัมภาษณ์ที่เป็นคนไทยหรือชาวต่างชาติจริงๆ ส่วนความคาดหวังนั้นก็ขึ้นอยู่กับลักษณะงานว่า ต้องติดต่อประสานงานพูดคุยกับชาวต่างชาติมากน้อยแค่ไหน หรือแค่โต้ตอบอีเมล์กันธรรมดา แต่ด้วยความที่เป็นคนไอที ซึ่งส่วนหนึ่งมักจะไม่ค่อยถนัดเรื่องการสื่อสารเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว พอเห็นว่ามีชาวต่างชาติเป็นผู้สัมภาษณ์เท่านั้นแหละ สติกระเจิดกระเจิง เหงื่อแตกซิกๆ ดังนั้น คุณต้องเตรียมตัวเตรียมใจมาก่อน

     
  4. เจอคำถามวัด EQ 
    สำหรับข้อนี้ ถือว่าเดาได้ยาก เพราะ อาจเป็นคำถามที่เกิดจากความตั้งใจจะทดสอบผู้สมัครจริงๆ หรืออาจเป็นตัวตนของผู้สัมภาษณ์ที่เป็นคนชอบถามตรงและแรงก็ได้ ดังนั้น ถ้าเจอสไตล์คำถามแบบนี้ ให้ตั้งสติและคิดในใจก่อนว่า เขากำลังทดสอบ EQ เราอยู่ เช่น คุณสามารถทนเวลาโดนคนอื่นด่าได้หรือไม่ หรือ คุณทำงานมาตั้งหลายปี แต่ทำไมถึงไม่มีผลงานที่โดดเด่นเลย เป็นต้น ผู้สมัครคนไหนที่สติหลุด หรือรู้สึกว่าคำถามนั้นกระทบกระเทือนใจ ก็อาจตอบคำถามหรือตอบโต้ผู้สัมภาษณ์คนนั้นไป โดยใช้อารมณ์ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อการสัมภาษณ์งานก็ได้ ให้คุณหยุดตั้งสติ เรียบเรียงคำตอบ อธิบายสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล น่าจะเป็นการเอาตัวรอดที่ดีที่สุด

     
  5. เจอศาสตร์ปราบเซียน
    มีบางแห่งใช้ ดวง/โหงวเฮ้ง ในการพิจารณาผู้สมัครด้วย (โอ้โห..อึ้งไป 8.72 วินาที) คนไอทีคงกำลังหัวเราะปนแปลกใจอยู่ใช่ไหม ว่ามีองค์กรที่ใช้เกณฑ์แบบนี้ตัดสินเพื่อรับคนเข้าทำงานด้วยหรือ คำตอบคือ มี ซึ่งอยากให้คุณเผื่อใจไว้สักหน่อย เพราะถ้าเขาไม่บอกเราก็ไม่มีวันรู้เลยว่าเขาใช้เกณฑ์นี้ แต่ถ้าเรารู้ก็ต้องอธิบายโดย อ้างอิงประสบการณ์ ความรู้ความสามารถและผลงานที่ผ่านมา ในการยืนยันว่าเราทำงานนี้ได้ ส่วนเขาจะเลือกหรือไม่นั้น คงสุดแล้วแต่ดวงและวาสนา...ไม่ใช่สิ! ก็แล้วแต่ผู้สัมภาษณ์จะพินิจพิจารณา

 

แนวทางที่ดีที่สุดที่จะลดเหตุการณ์ Surprise เหล่านี้คือ “สอบถามก่อนไปสัมภาษณ์” ว่าต้องทำแบบทดสอบอะไรบ้างไหม ใครที่จะเข้าสัมภาษณ์เราครั้งนี้บ้าง เป็นต้น อย่างน้อยเราจะได้เตรียมตัวได้ถูก แต่หากทาง HR ไม่บอกก็เป็นสิทธิ์ของเขา เราก็แค่ต้องเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกอย่างอยู่เสมอนั่นเอง หวังว่าหลังจากนี้ คนไอทีจะเตรียมตัวเองให้พร้อมทุกด้าน จะได้ไม่ต้องเจอเรื่อง Surprise เหล่านี้อีกในวันสัมภาษณ์งาน...สาธุ

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง