“4 เรื่องคาใจ” เกี่ยวกับ IT Career Path

19-เม.ย.-17

คัมภีร์เทพ IT

เชื่อว่าทุกคนคงอยากมีความก้าวหน้าและเติบโตในสายอาชีพ เพราะมันแสดงถึงการพัฒนาและเปิดโอกาสให้ตัวเองได้แสดงศักยภาพที่มีอยู่ในตัวได้มากขึ้นด้วย แต่สำหรับสายอาชีพด้าน IT (IT Career Path)  น่าจะเรียกได้ว่า เป็นสายอาชีพที่ไม่ค่อยมีอะไรตายตัว เพราะด้วยเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เกิดลักษณะงานใหม่ๆ ตลอดเวลา จึงทำให้คนไอทีเกิดความสงสัยว่า สรุปแล้วงานสายไอทีมี Career Path เป็นอย่างไรกันแน่? เราลองมาดู เรื่องที่คนไอทีเกิดความคาใจเกี่ยวกับ Career Path กัน

 

  1. Career Path แต่ละที่เหมือนกันมั๊ย? 
    ถือเป็นประเด็นที่คนในสายไอทีสามารถเห็นได้อย่างชัดเจนมาก สมมติ นาย A และ นาย B เริ่มงานพร้อมกัน เมื่อผ่านไป 7 ปี ลองมาดู Career Path ของทั้ง 2 คนนี้กัน 

    นาย A (ทำงานบริษัท A) : Programmer -> Tester -> SA -> BA 
    นาย B (ทำงานบริษัท B) : Programmer -> Programmer Analyst -> SA/BA

    จะเห็นว่า แม้จำนวนและชื่อตำแหน่งจะแตกต่างกัน แต่สุดท้ายทั้งคู่ก็มาอยู่ในตำแหน่งงานที่ลักษณะคล้ายกัน นั่นหมายถึง Career Path ของแต่ละองค์กรไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่มีอะไรตายตัว อย่างนาย A เป็น SA ก่อน BA ขณะที่นาย B ข้ามจาก Programmer Analyst ไป BA เลย แต่ในเนื้องานต้องสามารถทำควบ SA ได้ด้วย ดังนั้น คนไอทีควรให้ความสำคัญกับเนื้องาน คุณต้องรู้อะไรหรือทำอะไรได้บ้าง? เพราะชื่อตำแหน่งงานและ Career Path ของแต่ละองค์กร ถูกกำหนดไว้ไม่เหมือนกัน

     
  2. จะไปสาย Technical หรือ Business ดี? 
    เมื่อคนไอทีเริ่มต้นทำงาน โดยทั่วๆ ไปจะเริ่มจากสาย Technical หรือ Specialist ก่อน เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์สักระยะ ก็อยากเติบโตขึ้น โดยส่วนใหญ่เข้าใจว่า ต้องมีทักษะ Management และ/หรือ Business จึงจะก้าวไปสู่ตำแหน่งสูงๆ ได้ ซึ่งก็ไม่ผิด แต่ก็ไม่ถูกซะทีเดียว ถ้าพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันและความเป็นจริงแล้ว หากคุณอยากเป็นหัวหน้าที่เก่งคุณก็ควรต้อง ”รู้งานทั้งหมด” ที่สำคัญคือ ต้องเข้าใจเป้าหมายธุรกิจก่อน (ซึ่งตรงนี้ต้องใช้ทักษะด้าน Business) จึงจะสามารถถ่ายทอดและกำหนดขอบข่ายของงานให้กับลูกน้องในแผนกได้ (งานในส่วนนี้ต้องใช้ทักษะด้าน Management) รวมถึง “เข้าใจหัวอก” ของคนทำงานในแต่ละระดับหรือตำแหน่ง (ซึ่งส่วนนี้เกิดจากประสบการณ์การทำงานที่คุณได้สั่งสมมา) ดังนั้น ทักษะด้าน Management, Business เป็นสิ่งที่คนเป็นหัวหน้าควรรู้ไว้บ้าง ไม่ว่าคุณอยากเติบโตไปในสายงานใดก็ตาม

     
  3. เปลี่ยนสายแล้วไม่เวิร์ค จะกลับมาสายเดิมได้มั๊ย
    คำตอบคือ “ได้” ถ้าอ่านข้อ 1 - 2 คุณจะสรุปได้ว่า อย่ากังวลกับชื่อตำแหน่งงานมากเกินไป ควรโฟกัสไปที่เนื้องานและทักษะที่จำเป็นของตำแหน่งนั้นๆ จะดีกว่า คุณอาจจะคิดว่า BA ที่บริษัทนี้ เน้นการพูดคุยกับ User เพื่อเก็บ Requirement เป็นหลัก แต่หากคุณไม่ชอบ อยากกลับมาเป็น SA ก็ต้องดูว่า งาน SA บริษัทอื่นที่จะไปสมัครนั้น รายละเอียดของงานถูกกำหนดให้ดูในส่วนของ BA ควบไปด้วยหรือเปล่า เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว อาจเข้าทำนองที่ว่า “หนีเสือปะจระเข้” ก็ได้นะ

     
  4. ควรรู้ให้ลึกหรือรู้แบบกว้างๆ ดี?
    ข้อนี้คุณต้องตอบตัวเองให้ได้ หาให้เจอว่าคุณชอบแบบไหน และโอกาสเอื้ออำนวยหรือไม่ ถ้าคุณชอบที่จะรู้ลึกก็เป็น Specialist หรือ Expert ในด้านนั้นๆ ไป แต่หากคุณชอบรู้กว้างๆ มันก็เพิ่มโอกาสสู่อาชีพใหม่ๆ ได้ เพียงคุณหมั่นพัฒนาตัวเอง เรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพิ่มเติมตลอดเวลา และหมั่นนำสิ่งเหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ในงาน ถือเป็นการเตรียมความพร้อมรับโอกาสที่จะมาถึงในอนาคต เพราะอย่าลืมว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ถ้าคุณพร้อม คุณก็สามารถคว้าโอกาสหน้าที่การงานใหม่ๆ ที่เติบโตกว่าเดิมได้มากกว่าคนที่ไม่พยายามเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ เลย

 

สุดท้ายนี้หวังว่า คนไอที จะโฟกัสที่เนื้อหาของงานที่ทำ พัฒนาความรู้ความสามารถของตัวเองเสมอ รวมถึงหมั่นเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ทีมงานเทคสตาร์เชื่อมั่นว่า คุณจะสามารถเติบโต ทำงานได้หลากหลาย และไม่ตกงานอย่างแน่นอน
 

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง