“คนไอที” ไม่ค่อยจงรักภักดีต่อองค์กร จริงหรือ?

12-พ.ค.-17

คัมภีร์เทพ IT


จะว่าไปแล้ว เรื่องความจงรักภักดีต่อองค์กรของพนักงาน หรือ Employee Loyalty เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงกันมากขึ้นในช่วงหลังๆ เพราะแนวโน้มของคน Gen Y ซึ่งเป็นคนทำงานกลุ่มใหญ่ในองค์กร มีความคิดเรื่องการทำงานที่แตกต่างกับคน Gen X และ Baby Boomer ซึ่งส่งผลกระทบต่อองค์กรคือ มีการย้ายงานบ่อย และกลุ่มคนไอทีก็เป็นหนึ่งในสายอาชีพที่ถูกมองว่า “ไม่ค่อยจงรักภักดีต่อองค์กร” เพราะมีอัตราการเปลี่ยนงานสูงนั่นเอง ถ้างั้นเราลองมาดูว่ามีปัจจัยอะไรบ้างล่ะ ที่มีผลต่อการตัดสินใจเปลี่ยนงานของคนไอที

 

  1. ค่าตอบแทน
    เรื่องผลประโยชน์ คงจะเป็นปัจจัยต้นๆ ที่คนไอทีส่วนใหญ่ (รวมทั้งคนทำงานด้านอื่นๆ) ให้ความสำคัญ เพราะนอกจากจะมีผลต่อชีวิตความเป็นอยู่แล้ว บางคนอาจใช้เป็นตัวชี้วัดและแสดงถึงคุณค่าของบุคคลนั้นอีกด้วย คำว่าผลประโยชน์ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องของเงินเดือนเพียงอย่างเดียว แต่รวมไปถึงสวัสดิการต่างๆ และประโยชน์อื่นๆ ที่ได้รับ ในฐานะคนทำงานแต่ละคนก็มีภาระ มีความคาดหวัง และมีปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ ที่แตกต่างกัน คนไอทีบางคนมีความสามารถสูง ทำประโยชน์ให้กับบริษัทตั้งเยอะ แต่กลับได้ผลตอบแทนที่ไม่คุ้มค่า แล้วแบบนี้ใครจะไปทนอยู่ล่ะ มาทำงานนี่เนอะ ไม่ได้ทำการกุศล (หึๆ)

     
  2. โอกาสก้าวหน้า 
    โอกาสก้าวหน้าในสายอาชีพเป็นอีกเรื่องที่คนไอทีให้ความสำคัญ จะมีคนไอทีสักกี่คนที่ไม่แคร์ว่า จะได้เลื่อนตำแหน่งไหม จะได้มีโอกาสทำงานโปรเจคสำคัญหรือไม่ จะได้มีโอกาสไปเรียนรู้งานหรือทำงานกับทีมอื่นในสาขาที่อยู่ต่างประเทศกับเค้าบ้างรึเปล่า อย่าว่าแต่คนในสายงานไอทีเลย ทุกสายอาชีพก็หวังจะก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงานกันทั้งนั้นแหละ เพราะมันก็เป็นตัววัดความสำเร็จได้อีกอย่างหนึ่ง หากคนไอทีที่ทำงานไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้ว จะมีโอกาสก้าวหน้าไหม แล้วใครจะไปทนอยู่ล่ะ ผมคนนึงแหละที่ไม่เอาด้วย

     
  3. มีส่วนร่วมในความสำเร็จขององค์กร 
    มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กันเป็นสังคม ย่อมต้องการเป็นส่วนหนึ่งและมีส่วนร่วมในกลุ่มๆ นั้น หากคนไอทีได้รับมอบหมายให้ทำงานในโปรเจคหนึ่ง แล้วโปรเจคนั้นมีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อองค์กรเป็นอย่างมาก เชื่อว่าในฐานะคนทำงาน ย่อมรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในทีมงาน ถ้าโปรเจคนั้นสำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดีก็ยิ่งทำให้รู้สึกภูมิใจมากขึ้นไปอีก และสิ่งที่รู้สึกเพิ่มขึ้นอีกอย่างคือ คนไอทีจะรู้สึกว่ามีความสำคัญต่อองค์กร จะทำให้รักและผูกพันกับองค์กรมากขึ้นด้วย

     
  4. มีหัวหน้าดี 
    ต่อให้ได้รับผลตอบแทนที่ดี มองเห็นโอกาสความก้าวหน้า แต่หากเห็นว่า ผู้นำหรือ Manager ของตัวเอง ไม่ใส่ใจเลย ชอบเอาผลงานของลูกน้องไปเป็นของตัวเอง หรือไม่รับฟังความคิดเห็นลูกน้องแม้น้องลูกจะเสนอแนะไอเดียที่ดีมีประโยชน์ต่อแผนกและองค์กรก็ตาม แล้วแบบนี้จะมีใครคนไหนมีใจทุ่มเทในการทำงานและรักองค์กรล่ะ อยากจะบอกหัวหน้าให้รู้เหมือนกันว่า “การที่คุณไม่เป็นผู้นำที่ดี ไม่รับฟังเสียงจากลูกน้องเลย ก็เท่ากับกำลังผลักไสลูกน้องตัวเองทางอ้อม” ปกติคนไอทีสื่อสารไม่ค่อยเก่งอยู่แล้ว ถ้ามาเจอหัวหน้าที่ไม่เปิดใจรับฟังอีก แบบนี้ผมก็ขอ “บาย” เหมือนกัน

 

จะเห็นว่าเรื่องของ “ความรู้สึก” เป็นสิ่งที่มีผลต่อ Employee Loyalty ด้วยเช่นกัน หากคนไอทีคนไหนมาทำงานแล้วรู้สึกว่ามีความสุข อยากสร้างงาน อยากพัฒนาความรู้ความสามารถตัวเอง ก็ถือว่า “คุณอยู่ถูกที่” และเป็นโชคดีขององค์กรที่มีคุณอยู่ แต่หากใครที่ยังทุกข์ใจจากที่ทำงาน ก็ลองมองหาโอกาสใหม่ดูบ้าง แต่ต้องคิดให้รอบคอบมองให้รอบด้านซะก่อน

 

หวังว่าบทความนี้จะเป็นเสียงสะท้อนจากใจคนไอทีที่ส่งไปถึงหัวหน้างานหรือองค์กรให้เข้าใจคนไอทีมากขึ้นเพราะ Employee Loyalty จะเกิดหรือไม่ ก็อยู่ที่องค์กรนั่นเอง

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง