จะทำไงดี เมื่อคนไอที “ได้งานพร้อมกันหลายที่”

05-พ.ค.-17

คัมภีร์เทพ IT


โลกนี้ช่างไม่มีความยุติธรรม! ขณะที่บางคนหางานยากเย็นกว่าจะถูกเรียกไปสัมภาษณ์งานแต่ละที่ แต่บางคนกลับถูกเรียกตัวไปเริ่มงานที่ใหม่หลายที่ พร้อมๆ กัน! ถ้าคุณเห็นชื่อหัวข้อแล้ว บอกกับตัวเองว่า ฉันยังไม่เคยเจอปัญหานี้เลย! เราขอให้คุณข้ามไปอ่านบทความเหล่านี้ก่อน การเขียนเรซูเม่ของคนไอที และ เคล็ดลับการสัมภาษณ์งาน

แต่ถ้าคุณอยู่ในกลุ่มหลัง ใครๆ ก็อยากเรียกตัวไปร่วมงานด้วย โอกาสเข้ามาหลายที่พร้อมๆ กัน เกิดความ “รักพี่เสียดายน้อง” สับสนงงงวย ไม่รู้จะเลือกทางไหนนี้ ทีมงานเทคสตาร์ได้รวบรวมแนวทางเพื่อประกอบการตัดสินใจ เมื่อคุณตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้

 

  1. สไตล์เดียวกับเรามั๊ย
    เชื่อว่า ตอนไปสมัครงานหรือไปสัมภาษณ์งานทุกคนต้องสังเกตุกันบ้างหละว่า องค์กรหรือบริษัทที่เราไปสมัครงาน “มีสไตล์” แบบไหน? สภาพแวดล้อมรอบๆ ออฟฟิศ บรรยากาศภายในออฟฟิศ คนในออฟฟิศตั้งแต่ยามหน้าประตู Reception เจ้าหน้าที่ HR จนไปถึงผู้สัมภาษณ์หรือว่าที่หัวหน้างานในอนาคต คุณรู้สึกอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้? เช่น ชอบบรรยากาศในออฟฟิศมากๆ พนักงานอยู่เป็นมิตร แต่ละคนมีโต๊ะทำงานที่ดูเป็นสัดส่วน ไม่แออัด หรือ ตอนสัมภาษณ์งาน ว่าที่หัวหน้าดูเป็นมิตรและเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นกันอย่างตรงไปตรงมา ทำให้รู้สึกสบายใจเวลาคุยด้วย เป็นต้น เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องของความรู้สึกชอบ/ไม่ชอบ ความสบายใจ ซึ่งมันมีผลต่อการทำงานที่ใดที่หนึ่งในระยะยาว


     
  2. ไกลไปรึเปล่า
    ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่ต้องบอกว่า เรื่องการเดินทางไปทำงานก็เป็นปัจจัยสำคัญนะ มันสามารถฉุดรั้งศักยภาพในการทำงานของคุณได้เลยทีเดียว เช่น บ้านอยู่ลำลูกกาคลอง 6 จะไปทำงานย่านบางแค ไป-กลับแบบนี้ทุกวันคุณจะไหวไหม? ต้องถามตัวเองดู หรือหากต้องย้ายมาหาที่พักใกล้ๆ มันกระเทือนรายได้มากน้อยแค่ไหน มีปัจจัยอื่นอะไรบ้างที่น่าสนใจหรือสามารถทดแทนกับการที่คุณต้องทำงานไกลบ้าน อย่าลืมเก็บประเด็นนี้ไว้พิจารณาด้วยนะจ๊ะ

     
  3. จะมีอนาคตมั๊ย
    เรื่อง Career Path ก็สำคัญนะ อาจต้องลองคุยกับ HR หรือ ว่าที่หัวหน้าดูว่า ที่องค์กรเขามี Career Path สำหรับตำแหน่งเราอย่างไร หรือ มีโอกาสก้าวหน้าอื่นๆ บ้างไหม เช่น เปิดโอกาสให้ลองทำงานใกล้เคียงหรือมีส่วนร่วมในการออกนโยบายต่างๆ ไหม การจะขึ้นตำแหน่งหรือค่าตอบแทนต่างๆ วัดจากอะไรบ้าง บางคน Coding กลับดึก หรือต้องแก้ไขปัญหา Network ค่ำมืดดึกดื่นประจำ แต่ไม่ได้เลื่อนตำแหน่งหรือไม่ได้ปรับเงินเดือนเลย แบบนี้ใครจะไปมีกำลังใจทำงานล่ะ จริงไหม?

     
  4. จ่ายเท่าไหร่
    ถือเป็นประเด็นสำคัญของแทบจะทุกคน เงินเดือนเท่าไร แล้วมีสวัสดิการอื่นๆ มากน้อยหรือดีแค่ไหน มี OT ไหมหากต้องเลิกดึกหรือทำงานในวันหยุด บางคนอาจจะเกรงใจไม่กล้าถาม แต่อย่าลืมเมื่อเราได้งานแล้ว เราก็ถามได้ เป็นสิทธิ์ของเรา คิดให้ดีเพราะงานไอทีในหลายองค์กร อาจจะมีช่วงที่ต้องทำงานดึกหรือทำงานในวันหยุดด้วยบ่อยๆ ถ้าไม่ถามไว้ก่อน คุณอาจจะรู้สึกไม่มีความสุขก็ได้เมื่อต้องทำงานวันหยุดบ่อยๆ แต่ไม่ได้เงิน OT เลย

     
  5. มั่นคงแค่ไหน
    ประเด็นนี้ ก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจเช่นกัน เพราะหากเราทำงานในองค์กรที่มั่นคงแล้ว เชื่อว่าอย่างน้อยเราก็อุ่นใจว่า ถ้าเราไม่ประสิทธิภาพแย่เราก็ยังมีงานทำแน่นอน แต่บางองค์กรเป็นองค์กรขนาดเล็ก มีเจ้าของตัดสินใจ คนไอทีอาจจะไม่แน่ใจว่า งานของเรามันจำเป็นในองค์กรมากไหม วันหนึ่งมีปัญหารายได้บริษัทลด เขาอาจจะตัดงานที่จำเป็นน้อยที่สุดออกไปก่อนก็ได้

     
  6. ตรงกับเป้าหมายชีวิตเรารึเปล่า?
    เชื่อว่าทุกคนต้องมีเป้าหมายในชีวิต เช่น อยากเป็นผู้บริหารของฝ่าย IT หรืออยากเป็นผู้ประกอบการ ดังนั้นลองดูว่าองค์กรนั้น เขาส่งเสริมหรือจะช่วยพัฒนาเราให้เป็น “Talent” หรือเป็น “Resourceful Employee” หรือไม่ บางทีมีแนวทางส่งเสริมให้พนักงาน Training ในสายงานตัวเอง เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำ การสื่อสาร ซึ่งเป็นทักษะเสริมที่ช่วยให้เราเก่งหลากหลายด้าน

 

สุดท้ายนี้ไม่ว่าคนไอทีจะเลือกที่ได้ก็แล้วแต่ สิ่งที่ต้องทำอย่างแรกเมื่อทำงานคือ แสดงศักยภาพให้หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานเห็น เมื่อใดที่คุณทำให้หัวหน้าหรือองค์กรรู้สึกว่า ขาดคุณไม่ได้ หรือถ้าขาดคุณไปแล้วองค์กรจะต้องลำบาก เมื่อนั้นคือสัญญาณว่า คุณเป็น Talent และคุณจะมีทางเลือกให้ชีวิตมากมาย ทีมงานหวังว่า คุณจะตัดสินใจได้ถูกต้องและตรงกับความต้องการของคุณ

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง