สาเหตุสำคัญ ที่ทำให้คนไอทีคิด “ลาออก” จากงาน

25-พ.ค.-17

คัมภีร์เทพ IT


การ “ลาออก” จากงาน ถือเป็นเรื่องปกติของคนทำงาน บ้างก็ได้งานใหม่ บ้างก็ทำธุรกิจส่วนตัว หรือตามเหตุผลของแต่ละคน ซึ่งคนไอทีเองก็เช่นกัน แต่ในมุมของ HR แล้ว การลาออกของพนักงาน มีผลกระทบองค์กรแน่นอน ซึ่งวันนี้เราลองมาดูกันว่า คนไอทีที่ลาออกจากงาน น่าจะมีเหตุผลจากเรื่องใดบ้าง เพื่อ HR จะได้เตรียมรับมือและแก้ไขสถานการณ์ได้

  1. อยากเรียนรู้สิ่งใหม่
    คนไอทีเป็นสายอาชีพที่อยู่กับเทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงไม่แปลกใจที่คนไอทีจำเป็นต้องเรียนรู้และอัพเดทความสามารถตัวเอง อยู่ตลอดเวลา (มันถูกปลูกฝังอยู่ในตัวตนของคนไอทีอยู่แล้ว) หากองค์กรใด/หัวหน้างานคนใดที่ไม่มีนโยบายสนับสนุนให้พนักงานได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ หรือได้มีโอกาสไป Training สอบพวก Cert. ที่เกี่ยวกับงานของพวกเขาละก็ คนไอทีก็อาจจะเริ่มมองหางานใหม่ที่มันตอบสนองความต้องการ และช่วยต่อยอดในสายอาชีพของพวกเขาอย่างแน่นอน
    Solution: หัวหน้างานและ HR ต้องคุยกับพนักงานว่าใครมีความชอบหรืออยากเรียนรู้สิ่งไหนที่มันสอดคล้องกับธุรกิจหรือต่อยอดกับธุรกิจหรือไม่

     
  2. อยากได้ค่าตอบแทนสูงขึ้น
    ไม่ว่าคนไอทีหรืออาชีพอื่นๆ น่าจะพูดได้ว่าส่วนใหญ่ก็ออกเพื่ออัพเงินเดือน การบ้านสำคัญจึงตกอยู่ที่ HR ว่า ต้องพิจารณาฐานเงินเดือนของพนักงาน เปรียบเทียบกับคู่แข่งทางธุรกิจของเรา เขาให้กันเท่าไหร่ ยิ่งในกลุ่มธุรกิจเดียวกันย่อมมีความต้องการคนไอทีที่มีทักษะคล้ายๆ กัน หรือเคยทำงานในธุรกิจประเภทเดียวกันมาก่อน ดังนั้น หากองค์กรไม่อยากให้พนักงานถูกดึงตัวก็ต้องหาทางให้พนักงานรู้สึกว่าที่นี่ให้ค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับความสามารถของเขาแล้ว
    Solution: พิจารณากระบอกเงินเดือนพนักงานโดยดูจากตลาดและคู่แข่งธุรกิจว่า คนทักษะแบบนี้ ประสบการณ์แบบนี้ได้เงินเดือนหรือค่าตอบแทนเท่าไร เพราะจะได้เพิ่มโอกาสดึงดูดใจคนไอทีมากขึ้น

     
  3. อยากเลื่อนตำแหน่ง
    นอกจากได้ค่าตอบแทน การเลื่อนตำแหน่งถือเป็นเครื่องพิสูจน์ความสามารถ และเป็นผลลัพธ์ของความทุ่มเทในการทำงาน แต่เรื่องนี้มันก็แล้วแต่องค์กรว่าจะมีแนวทางการบริหารคนอย่างไร บางองค์กรชอบให้คนนอกมาอยู่ในตำแหน่งสูงๆ บางองค์กรที่มีคนเยอะ โตช้า จะเลื่อนตำแหน่งปีละหลายๆ คนก็ทำได้ยาก เรื่องเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความรู้สึกของคนไอที ถ้าเขารู้สึกว่าเติบโตช้าและไม่รู้ต้องรอนานแค่ไหน ทางเลือกพวกเขาคือ การออกจากที่หนึ่ง เพื่อไปเติบโตในอีกที่หนึ่งยังไงล่ะ
    Solution: พิจารณานโยบายการปรับตำแหน่งงานโดยดูตาม Performance มีการตั้ง KPI ที่ชัดเจน สมเหตุสมผล และพนักงานยอมรับตั้งแต่แรก และเมื่อใครทำได้ก็ต้องปรับตามผลงานที่ออกมา

     
  4. อยากมี Work-Life Balance มากขึ้น
    เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องประกอบการตัดสินใจ แต่ก็มีความสำคัญเช่นกัน อย่างบางธุรกิจคนไอทีถือเป็นหัวใจหลักและมีความสำคัญต่อธุรกิจมาก ดังนั้นงานอาจจะต้องหนักกว่าธุรกิจอื่น แม้แต่สไตล์การทำงานของในแผนกที่ชอบกลับค่ำๆ หรือจำนวนคนในแผนกที่มีน้อยแต่ปริมาณงานค่อนข้างมากและเร่งด่วนตลอดเวลา เรื่องเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการ Balance ชีวิตของคนไอทีทั้งสิ้น หากใครที่รู้สึกว่าเขาต้องเหนื่อยมากตลอดเวลา กลับบ้านดึกดื่น ไม่มีเวลาให้ครอบครัวหรือทำในสิ่งที่รักบ้าง เขาก็คงต้องออกไปทำที่อื่น
    Solution: หัวหน้างานควรรู้จักลูกน้อง ใกล้ชิดพูดคุยปรึกษาปัญหาและสังเกตลูกน้องตัวเอง หากงานหนักก็ต้องให้กำลังใจหรือ Support ด้านอื่นเพื่อเป็นขวัญกำลังใจ ส่วน HR ก็หาแนวทางปรับสวัสดิการที่เหมาะสมกับพนักงานหรือยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม

     
  5. อยากมีกิจการเป็นของตนเอง
    สำหรับคนยุคนี้ การออกไปเป็น “นายของตัวเอง” ดูจะเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ต้องการ และมีโอกาสที่จะทำได้ง่ายมากขึ้น ดังที่เราจะเห็นได้จากบริษัท Startup ที่เกิดขึ้นมากมายในปัจจุบัน เชื่อว่ามีคนไอทีไม่น้อยที่เมื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานได้ระยะหนึ่ง เขาก็จะออกไปตั้งธุรกิจของตนเอง อยากทำในสิ่งแตกต่างออกไป อยากท้าทายตัวเอง อยากเปลี่ยนชีวิต อยากได้ในสิ่งที่งานประจำให้ไม่ได้ มันอาจเป็นเรื่องไม่ง่ายในการจะรั้งคนเก่งๆ ที่มีแนวคิดแบบนี้ ดังนั้น อยู่ที่หัวหน้างานหรือ HR ว่าทำอย่างไรให้พวกเขารู้สึกว่า ยังได้ทำในสิ่งที่ต้องการและมีความสุขกับงานที่ทำ แม้จะยังอยู่ในองค์กรก็ตาม
    Solution: Focus คนไอทีที่มีความสามารถไว้และสนับสนุนด้านต่างๆ ที่ทำให้พนักงานทำงานแล้วมีความสุข ให้รางวัลหรือให้คุณค่ากับคนที่ทุ่มเทให้องค์กร เพื่อให้เขาผูกพันด้วยใจมากกว่าแค่เพียงผลประโยชน์ หรือตัวองค์กรเองอาจจะมีนโยบายสนับสนุนเหล่าพนักงานที่อยากออกไปตั้ง Startup โดยการร่วมลงทุนในบริษัทเหล่านั้น นอกจากจะเหมือนได้ทำงานกับคนเก่งๆ ที่รู้ใจรู้สไตล์การทำงานกันแล้ว ยังอาจได้เทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ๆ และช่วยทำกำไรให้บริษัทอีกด้วย

     

ยังมีอีกหลากหลายเหตุผลที่คนคนหนึ่งคิดจะลาออกจากงาน ดังนั้น หัวหน้างานกับ HR จะเป็นผู้ที่สามารถเข้าไปรับรู้ว่า คนไอทีคนนี้เขาต้องการอะไร แล้วองค์กรตอบสนองให้เขาในเรื่องที่ต้องการได้ไหม ถ้าให้ไม่ได้องค์กรจะเพิ่มอย่างอื่นทดแทนได้ไหม ถือเป็นโจทย์ที่ต้องหาคำตอบกันไปในแต่ละรายบุคคล นี่แหละงาน HR มันท้าทาย หลากหลาย เพราะหน้าที่ของเราคือ ต้องอยู่และเข้าใจ “คน”

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง