Building your personal brand as a new web developer

11-Oct-17

คัมภีร์เทพ IT

        บทความนี้คุณ Rick West (จากอดีตช่างประปาที่สามารถพลิกผันตนเอง มาสู่เส้นทางอาชีพ Web Developer) ได้เขียนไว้เกี่ยวกับวิธีการสร้าง Personal Brand ของเขาเอง โดยจุดที่ทำให้เขาเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ก็เพราะ ช่วงที่เปิดรับสมัครพนักงาน เจ้านายของเขาได้ค้นหาชื่อผู้สมัครใน Google (แทนที่จะหาจาก Facebook เพราะจะเจอแต่กิจกรรมท่องเที่ยว สังสรรค์ เป็นส่วนใหญ่) โดยพิจารณาว่าผู้สมัคร มี Blog ของตนเองไหม มีความสนใจเรื่องใดเป็นพิเศษไหม และมีโปรเจคงานอื่นๆ นอกเหนือจากงานประจำหรือไม่ นี่เองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเห็นความสำคัญและเริ่มสร้าง Brand ให้ตนเองเป็นที่รู้จักและน่าสนใจขึ้นมา ทีมงานเทคสตาร์เลยสรุปมาให้ดูกันว่า เขาแนะนำอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทางให้คนไอทีได้ลองไปประยุกต์ใช้กันดูครับ

 

  1. สร้าง Blog และอัพเดทสม่ำเสมอ 
    หากคุณยังไม่มี Blog ของตัวเอง คุณสามารถจดทะเบียนเป็น {ชื่อของคุณ}.com หรือตามแต่ที่คุณจะถนัดหรือต้องการ เมื่อคุณมี Blog ของตัวเอง มันไม่ใช่แค่ว่า จะมีคนเข้าชมเว็บไซต์คุณเป็นพันๆ หมื่นๆ คน แต่มันเกี่ยวกับเรื่องการสร้าง Brand ให้ตัวคุณเองอยู่ ลองนึกดูว่า อาจมีคนทั่วไป ลูกค้า หรือนายจ้าง ที่พิมพ์ชื่อคุณ หรืออะไรก็ตาม แล้วเจอคุณใน Google ก็เป็นได้ ถ้าคุณจะสร้าง Blog มันไม่จำเป็นต้องแพงหรือมีอะไรที่เว่อร์วังเลย WordPress ก็สามารถสร้าง Blog ดีๆ ได้ และมันก็ติดตั้งหรือทำอะไรต่างๆ ได้ง่ายด้วย คุณมี Blog ไว้เพื่อโชว์ว่าคุณมีทักษะหรือโปรเจคอะไรเด่นๆ ไม่จำเป็นต้องใช้เวลามากมายในการคิดว่าจะโพสต์อะไรบ้าง แค่โพสต์ในสิ่งที่คุณอยากโชว์ อยากบอกให้คนอื่นรู้ ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องทางเทคนิคที่มากเกินไปในช่วงแรกๆ ไว้คุณเชี่ยวชาญขึ้น คนอื่นจะรู้ความสามารถของคุณเอง คุณสามารถโพสต์เรื่องทั่วไปก็ได้ เช่น กิจกรรมยามว่าง หรือสิ่งที่คุณสนใจในช่วงนั้นๆ แต่สิ่งสำคัญคือ อย่าโพสต์อะไรที่สร้างประเด็นดราม่าหรือก่อให้เกิดการโต้แย้งกัน

     
  2. สมัคร Twitter account 
    แต่ก่อน Rick ไม่ค่อยสนใจ Social Media แต่หลังจากเขาสมัครใช้งาน Twitter มันทำให้เขาได้พบข้อดีหลายอย่าง รวมทั้งคนเก่งๆ ในแวดวงไอทีที่เป็น Expert ในด้านต่างๆ อย่างที่เขาเคย Tweet ความรู้สึกเกี่ยวกับ Slim Framework ซึ่งไม่น่าเชื่อว่าจะมีคนที่ร่วมพัฒนา Framework มาตอบ Twitter ของเขา แน่นอนว่าจะมีใครรู้ดีไปกว่าคนที่ร่วมพัฒนามันมาจริงไหม นอกจากนี้ยังเป็นช่องทาง อัพเดทข่าวสารต่างๆ ในแวดวงไอที รวมทั้งทำให้ได้รู้จักคนที่สนใจในเรื่องเดียวกันได้ จนสามารถไปพบเจอ ร่วมงาน Meetup แลกเปลี่ยนความรู้กันได้ นับว่า Social Media ถือเป็นช่องทางที่ดี ในการสร้าง Brand และสร้างเครือข่ายระหว่างกันเพียงคุณแชร์ ความรู้ แนวคิด และสิ่งที่คุณสนใจ (และเป็นสิ่งที่น่าสนใจด้วย)

     
  3. สร้างเอกลักษณ์ของตนเองให้เหมือนกันทุก Platform 
    เวลาคิดถึงเรื่อง Brand ส่วนใหญ่เรามักจะคิดถึงเรื่องความเชื่อมโยงกันระหว่าง โลโก้ สโลแกน และรูปภาพ ซึ่งมันก็เป็นแนวทางเดียวกันกับเมื่อคุณจะสร้าง Brand ให้ตัวเอง (Personal Brand) นั่นหมายถึง รูป Profile หรือประวัติโดยย่อของคุณ ควรจะให้เหมือนกันในทุกๆ ช่องทางไม่ว่าจะเป็น Blog หรือ Social Media ต่างๆ ของคุณ เพราะคนจะได้จดจำคุณได้และรู้ว่าคุณคือคนเดียวกัน จะได้ไม่ทำให้คนที่ติดตามคุณเกิดความสับสน

     
  4. คุณคือ DEVELOPER 
    ถ้าคุณกำลังเรียนรู้หรืออยู่ระหว่างการพัฒนาทักษะของคุณอยู่ อย่าเพิ่งปิดโอกาสในการได้งานไป โดยคุณสามารถบอกสถานะของคุณใน Blog หรือ Social Media ของคุณได้ว่าเป็น “Aspiring developer” หรือ “Developer in training” ซึ่งคือ คุณเป็น Developer มือใหม่ไฟแรงที่อยู่ระหว่างการฝึกฝนอยู่ก็ได้ หรือแม้คุณจะทำงานของคุณในช่วงเวลางาน แต่คุณมาทำ Coding ในช่วงหลังเลิกงาน และกำลังหางาน
    Developer  อย่าลืมอธิบายตัวเองให้ชัดเจนว่าคุณคือใคร กำลังทำอะไร และมีเป้าหมายอย่างไร
     
  5. อย่าบอกว่าคุณอยู่แค่ระดับ “JUNIOR” 
    Rick เคยย้อนนึกถึงเรื่องที่เขาเคยอ้างอิงอยู่เสมอใน Blog และ Social Media ว่า เขายังอยู่ในระดับ Junior ทั้งที่เขาอายุ 30 แล้ว ซึ่งที่จริงมันดูขัดแย้งไปสักหน่อย ถ้าพิจารณาดีๆ แล้วคำว่า “Junior” มันดูจะไม่ค่อยดูดีสักเท่าไหร่ เพราะมันสื่อถึง
    Developer ที่มีประสบการณ์ทำงานน้อย แต่ถ้าคนคนนั้นมีประสบการณ์ Coding มาแล้วเป็น 10 ปีล่ะ จะเรียกเขาว่า Junior อยู่ไหม การที่คุณอ้างอิงว่ายังเป็น Junior อยู่อาจเป็นการตัดโอกาสดีๆ ของคุณไปในกรณีที่มีตำแหน่งงานดีๆ เข้ามา ซึ่งจริงๆ แล้วคุณก็สามารถทำมันได้ด้วย 
     
  6. เชี่ยวชาญอะไรเป็นพิเศษให้ “เน้น” ด้านนั้น 
    ในช่องทาง Blog และ Social Media ของ Rick เขาจะอ้างอิงอยู่เสมอว่า เขาเป็น “PHP Developer” ส่วนทักษะอื่นๆ อย่าง JavaScript ของเขาไม่ได้โดดเด่นอะไร นั่นทำให้เขาไม่ได้หาตำแหน่งงาน JavaScript Developer เลย Rick เคยใช้เวลาไม่นานเพื่อศึกษา Ruby on Rails ก็รู้สึกว่า มันไม่ใช่ อีกเช่นกัน เขาเลยสร้าง Brand ตัวเองในฐานะ PHP Developer ซึ่งสิ่งนี้จะช่วยให้เขาโชว์ทักษะและความชำนาญพิเศษได้อย่างตรงและถูกต้อง ถ้าคุณต้องการหาโอกาสที่เหมาะสมสำหรับตัวคุณเอง คุณต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนชัดเจนถึงสิ่งที่อยากจะเป็น

     
  7. จัดการทุกอย่างใน Github account ให้เรียบร้อยซะ 
    ถ้าคุณมี Project ที่อยู่ในระหว่างทำอยู่ หรือ Work In Process อยู่เยอะจนเกินไป นั่นหมายถึง มันยังไม่เสร็จ คุณอาจจะถูก เหล่า HR หรือ IT Manager มองในแง่ลบก็เป็นได้ อย่าเข้าใจผิดคิดว่าการที่มี Project เสริมเยอะๆ (แต่ไม่เสร็จสักโปรเจค) แล้วจะดี มันกลับทำให้คนที่เห็น อาจไม่ประทับใจด้วยซ้ำเพราะคุณอาจถูกมองว่า คุณแค่อยากจะทำๆๆ แต่คุณไม่ได้ให้เวลามันอย่างเต็มที่ สู้คุณโชว์โปรเจคงานที่เสร็จแล้ว แสดงให้เห็นว่า คุณใช้ความพยายามกับมันขนาดไหน แล้วมันก็ทำให้คุณได้ทักษะหรือเทคนิคใหม่ๆ เพิ่มขึ้นบ้าง แบบนี้น่าจะส่งผลดีต่อคุณมากกว่า

     
  8. มี “PASSION” ก็แสดงมันออกมา ใช้ทุกช่องทางที่คุณมีทั้ง Blog, Social Media, Github และช่องทางออนไลน์อื่นๆ ในการแสดง “PASSION” ของคุณออกมาว่าคุณชื่นชอบหรือหลงใหลสิ่งใดหรือหากมีสิ่งใดที่คุณรู้สึก “ภาคภูมิใจ” ก็แสดงมันออกมาแล้วแสดงให้เห็นว่า คุณต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้างกว่าจะได้มันมา

 

ที่มา: medium.freecodecamp.org

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง