6 Tips How Thai IT people to Find Work Overseas

24-Nov-16

IT Insider


การทำงานต่างประเทศ อาจเป็นความฝันของคนในสายงานไอทีหลายๆ คน ด้วยเหตุผลที่ต่างกัน แต่ปัญหาที่มักพบก็คือ ไม่รู้จะเริ่มตรงไหน ต้องพิจารณาอะไรบ้าง วันนี้อยากจะมาเล่าประสบการณ์ให้ฟังค่ะ
 

  1. รู้จักตัวเอง – สิ่งที่สำคัญที่สุดในการเลือกเส้นทางสายอาชีพ คุณต้องรู้จักตัวเองก่อน อยากทำงานด้านไอทีซัพพอร์ต (IT Support) ไม่ชอบแนวเขียนโปรแกรมมิ่ง (Programing) อยากเป็นผู้ดูแลระบบฐานข้อมูล (Database Admin) ออกแบบระบบเครือข่าย (Network Architect) หรืออยากเป็นผู้ดูแลระบบของบริษัท (System Admin) อยากเขียนโปรแกรมพัฒนาซอฟแวร์ (Software Developer) คุยกับตัวเองก่อนว่าอยากจะไปในทิศทางไหน
     
  2. ตรวจสอบตลาด – เปิดเว็บไซต์หางานของประเทศที่เป็นจุดหมายของเรา ดูว่ามีงานที่ชอบไหม แล้วพิจารณาลักษณะของงานกับความสามารถของตัวเองว่ามีถึงตามที่บริษัทเขาต้องการหรือไม่?

    พออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจถอดใจและคิดว่าตัวเองไม่มีความสามารถอะไรเป็นไปตามที่ต้องการเลย สิ้นสุดแค่นี้.......เราจบกัน อย่าค่ะ.....อย่าเพิ่งท้อ ถ้านั่นเป็นงานที่คุณอยากทำ คุณต้องวางแผนเพื่อพัฒนาความสามารถตัวเองขึ้นมาให้ได้ ไม่จำเป็นต้องได้ทั้งหมดที่เขาต้องการในทันที งานทุกงานอยู่ที่ความตั้งใจ ถ้ามีความตั้งใจ ใจสู้ บางทักษะคุณสามารถไปพัฒนาเอาที่หน้างานได้ หลังจากที่เขารับคุณเข้าทำงานไปแล้วคุณก็จะได้พัฒนาทักษะนั้นๆ อย่างเต็มที่


    แล้วทำอย่างไงบริษัทถึงจะรับคุณล่ะ ?  คำตอบคือ ต้องแสดงให้เขาเห็นว่าคุณสามารถรับผิดชอบ พร้อมที่จะเรียนรู้และพัฒนาตัวเองให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่คุณสมัครได้ ในมุมมองของผู้เขียนไม่ว่าอาชีพใดก็ตาม หากเราแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ (รักที่จะทำงานนั้นจริงๆ) แม้ความสามารถจะยังมีไม่ครบ ผู้สัมภาษณ์อาจจะมองข้ามไปได้เพราะคิดว่าเป็นสิ่งพัฒนากันได้ (แล้วอย่าทำเขาผิดหวังนะคะ ถ้าเขารับคุณแล้ว)

    โดยเฉพาะในตำแหน่งสำหรับเด็กจบใหม่หรือไม่ใช่ตำแหน่งที่บริษัทคาดหวังคนมีประสบการณ์จริงๆ ความเป็นตัวคุณเอง (มุมมอง บุคลิก ความตั้งใจ) จะได้รับการพิจารณามากกว่าความสามารถที่คุณมี ผู้สัมภาษณ์ก็คือคนที่จะเป็นหัวหน้างานคุณนั่นแหละ จากประสบการณ์ระหว่างทำงานในต่างแดนผู้เขียนเปลี่ยนงานมาแล้วสองครั้ง แต่ละครั้งผู้เขียนไม่ได้มีความสามารถตรงกับที่บริษัทประกาศไว้เลย

     
  3. ศึกษาข้อมูลของประเทศที่จะไป - แต่ละประเทศมีวัฒนธรรม เชื้อชาติ ศาสนาและไลฟ์สไตส์ (lifestyle) ต่างกัน โดยเฉพาะถ้าคุณเป็นผู้หญิง เรื่องความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาด้วย นอกจากนี้ คุณต้องหาข้อมูลให้รู้ว่ามีอะไรในประเทศนั้นที่ไม่ชอบถึงขนาดที่คุณจะไม่สามารถปรับตัวได้หรือไม่
     
  4. พิจารณาบริษัท – ไม่ว่าจะเป็น ความสะดวกในการเดินทาง เวลางาน สวัสดิการพื้นฐาน เช่น ประกันสุขภาพ ซึ่งเรื่องพวกนี้คุณสามารถทราบข้อมูลได้จากประกาศรับสมัครงานบนเว็บไซต์หางาน เลือกแบบที่คุณรับได้เพราะเมื่อมีปัญหามากระทบจะได้ไม่รู้สึกท้อ เวลามีดราม่าเข้ามาคุณจะได้ไม่รู้สึกแย่จนเกินไป

    สิ่งที่เว็บหางานไม่ได้บอกแต่คุณจำเป็นต้องรู้คือ กฎหมายแรงงานต่างด้าว ซึ่งครอบคลุมถึง สวัสดิการ วันลาหยุดประจำปี  และการเสียภาษีตามที่กฏหมายกำหนด นอกจากนี้ เรื่องใบอนุญาตในการทำงาน หรือ เวิร์คเพอร์มิท (Work permit) เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากถ้าคุณจะดำเนินการด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่ถ้าบริษัทรับคุณแล้วเขาจะดำเนินการให้ แต่ถ้าคุณมีความรู้เรื่องนี้ด้วยจะดีมาก (เช่น เรื่องการเตรียมเอกสารทั้งหมดที่คุณจำเป็นต้องใช้) เพราะการที่บริษัทไม่ต้องเสียเวลาหรือวุ่นวายกับเรื่องนี้ คุณจะมีโอกาสได้รับการพิจารณาที่สูงขึ้น

     
  5. ภาษา – ไม่ใช่ไม่สำคัญถึงเอามาอยู่ท้ายๆ มันสำคัญแน่นอนเพราะต้องใช้ในการสื่อสาร แต่จะมากน้อยเพียงไรขึ้นอยู่กับระดับการสื่อสารในตำแหน่งงานที่คุณทำ ถ้าคุณอยู่ในตำแหน่งที่ต้องติดต่อกับคนในประเทศนั้นเป็นอย่างมาก ก็ควรจะศึกษาภาษาที่ใช้สื่อสารในประเทศนั้นไว้ด้วย อย่างไรก็ตามคนที่ทำงานด้านไอทีภาษาอังกฤษยังไงก็หลีกเลี่ยงได้ยาก เพราะคลังความรู้ของคนไอทีส่วนใหญ่ก็ยังใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก  (ถึงแม้จะมีบางตำราที่แปลเป็นไทย แต่ส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นภาษาอังกฤษอยู่ดี) ถึงอย่างนั้นก็อย่ากังวลมากเกินไปกับทักษะด้านภาษาที่คุณอาจจะประเมินตัวเองเอาไว้ว่าไม่ดี ประเด็นสำคัญอยู่ที่ทัศนคติและความพยายามของคุณที่จะสื่อสารต่างหากคือสิ่งที่ช่วยให้คุณเข้าใจคนอื่นและคนอื่นเข้าใจคุณ

    สำหรับผู้เขียนเอง ประเทศที่ผู้เขียนทำงานอยู่มี 3 ภาษาหลัก หนึ่งในนั้นคือภาษาอังกฤษ ซึ่งผู้เขียนก็ไม่ได้เก่งภาษาอังกฤษอะไรเลย ยิ่งตอนที่มาอยู่ปีแรกๆ ภาษาหลักอีกสองภาษาผู้เขียนแทบสื่อสารไม่ได้เช่นกัน ถึงทุกวันนี้ความสามารถด้านภาษาของผู้เขียนก็มีเพียงแค่สามารถเอาตัวรอดได้และพอใช้กับระดับการสื่อสารในการทำงานเท่านั้น คนที่ทำงานอยู่เมืองไทยแต่ต้องติดต่อกับชาวต่างชาติทุกวันอาจจะมีทักษะภาษาอังกฤษดีกว่าผู้เขียนเสียอีกเพราะได้ใช้อยู่ประจำ ดังนั้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ไม่ใช่อุปสรรคที่คุณจะพัฒนาภาษาอังกฤษ

     
  6. อย่าเปลี่ยนงานบ่อยเกินไป - เรียนรู้งานให้ถ่องแท้ก่อนจะเปลี่ยน เก็บประสบการณ์ในการทำงานให้ได้มากที่สุด สะสมความรู้จนตกผลึกในงานที่ทำก่อนแล้วค่อยคิดเปลี่ยนงาน อย่าใช้อารมณ์หรือปล่อยให้สิ่งแวดล้อมมาทำลายโอกาสที่จะพัฒนาทักษะของคุณผ่านการทำงาน ไม่อย่างนั้น คุณอาจโดนหมายหัวว่าเป็น “พวกเปลี่ยนงานบ่อย” ซึ่งเป็นเรื่องยากที่จะสลัดมันออก ฝ่ายบุคคลอาจไม่เปิดโอกาสเรียกคุณมาสัมภาษณ์เลยด้วยซ้ำ ยกเว้นคุณทำงานแบบสัญญาจ้าง (ซึ่งคนไอทีมักจะทำกัน) คุณจำเป็นต้องชี้แจงเหตุผลนี้ให้ชัดเจนในเรซูเม่ว่า งานที่คุณเคยทำนั้นเป็นงานสัญญาจ้างหรืองานแบบไม่ประจำ

    แนะนำว่าควรทำงานให้ได้อย่างน้อย 1 – 2 ปี ก่อนจะเปลี่ยนงาน แต่ถ้าสามารถทำอยู่ได้ 4 – 5 ปี โอกาสที่จะได้งานใหม่ที่มีความก้าวหน้ากว่าเดิมจะสูงกว่ามาก เพราะคุณจะได้เรียนรู้งานที่ได้ทำอย่างแท้จริง

หวังว่าการแชร์ประสบการณ์ครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์ให้กับผู้อ่านที่คิดจะหาประสบการณ์ทำงานต่างประเทศบ้างนะคะ 

 



แบ่งปันประสบการณ์ในการทำงานต่างแดนจาก ศิรดา จำปาราช (นุ้ย)
IT consultant บริษัท CGI IT Consulting Sdn bhd. ประเทศมาเลเซีย (ตั้งแต่ปี 2015 ถึงปัจจุบัน)


 

หมายเหตุ: รุ่นพี่คนไหนมีเรื่องราวไอทีดีๆอยากแบ่งปัน สามารถอีเมล์มาที่ itrockstar@techstarthailand.com


 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน