5 ปัญหาที่ Developer มักจะเจอ พร้อมวิธีแก้ไข

16-มี.ค.-18

คัมภีร์เทพ IT

มั่นใจว่า ในการทำงานของ Developer ทุกคน น่าจะต้องเคยพบเจอกับปัญหากันมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Developer มือใหม่ที่ชั่วโมงบินยังน้อยอยู่ หรือแม้แต่ Developer บางคนที่มีประสบการณ์แล้ว ก็ยังคงพบเจอปัญหาเหล่านี้อยู่บ้างในบางครั้งคราว วันนี้เรามาดูกันว่า ปัญหาที่ Developer มักจะเจอในการทำงาน มีเรื่องใดบ้าง รวมทั้งแนวทางแก้ไขของแต่ละปัญหา

1. มี Duplication Code ในโปรแกรม

ถ้าคุณเขียน Code แล้วมีการ Duplication ขึ้น หรือมีชุดของ Code ที่ทำงานซ้ำๆ กัน อาจทำให้ยากในการ Maintain และอาจนำไปสู่การเกิด Bug ด้วย คุณอาจคิดว่าคุณได้ทำการเปลี่ยนแปลง Code แล้ว แต่แล้วค้นพบว่า มี Method ซ้ำซ้อนกันอยู่ในไฟล์อื่นๆ และไม่ได้รับการ Update เมื่อคุณทำการเปลี่ยนแปลง Code แน่นอนว่าเรื่องใหญ่ที่คุณต้องเจอคือเกิด Bug นี่คือเหตุผลที่คุณควรหลีกเลี่ยงการ Duplication ของ Code ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ 
ทางแก้ไข : คุณควรมานั่งวิเคราะห์ Code ของคุณ แล้วจับมันแยกออกมาสร้างเป็น Method ใหม่ไปเลย แล้วค่อยเรียก Method นั้นมาใช้งานจะดีกว่า ถ้าหากคุณจะแก้ไขมัน หรือเกิด Bug ก็จะได้แก้ไขมันตรง Method นั้นที่จุดเดียวไปเลย

2. แก้ไข Code แล้วเกิด Bug ใหม่ขึ้นมา

เคยเป็นไหม เมื่อคุณทำการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโปรแกรม หรืออาจเพิ่ม Feature ใหม่เข้าไป คุณมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการเกิด Bug ใหม่ๆ ในโปรแกรม 
ทางแก้ไข : สิ่งที่ช่วยป้องกันปัญหานี้คือ การเขียน Unit Test นั่นเอง โดยเขียน Unit Test เป็น Project ที่แยกออกมาต่างหาก เพื่อทดสอบว่า Method และ Function ต่างๆ ในโปรแกรมของคุณทำงานอย่างถูกต้องหรือไม่ การ Test นี้ถูกเขียนขึ้นเพื่อให้แน่ใจว่าMethod นั้นทำในสิ่งที่ต้องทำหรือไม่ หรือ Method นั้นถูกเรียกไปใช้งานจริงหรือไม่ ยิ่งคุณมีการเขียน Test โปรแกรมของคุณมากเท่าใด ก็จะมีเปอร์เซ็นต์ที่ Code ของคุณจะทำงานถูกต้องมากขึ้นเท่านั้น ยิ่งทำได้ 100% ก็ยิ่งดี

3. ไม่ใช้ Version Control

คุณอาจเพิ่ม Feature ใหม่หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข Code บางส่วน แล้วจากนั้นเมื่อใช้งานจริงแล้วมาพบว่า มี Bug เกิดขึ้น คุณอาจจำเป็นต้องเอา Feature นั้นออกซะ และกลับไปใช้ Version ก่อนหน้านี้ที่มันถูกต้องอยู่แล้ว ซึ่งปัญหานี้อาจเป็นเรื่องที่คุณต้องเจอถ้าคุณไม่ได้ใช้ Version Control
แล้ว Version Control คืออะไร
Version Control เป็นกระบวนการในการ Record การเปลี่ยนแปลงในโปรแกรมเพื่อให้คุณสามารถกลับไปใช้ Version ก่อนหน้าหรือ Version ที่คุณต้องการได้ ยิ่งเมื่อคุณทำงานให้กับบริษัท ก็มีโอกาสสูงที่จะได้ใช้พวก Version Control โดยอาจจะเป็น SVN (Subversion) หรือ GIT ถ้าคุณทำ Personal Project ของคุณเอง Version Control ก็อาจไม่จำเป็นแต่คุณก็อาจเจอปัญหาแบบเดียวกันนี้ 
ทางแก้ไข : ใช้ Version Control โดยขอแนะนำให้เริ่มลองใช้ GitHub สำหรับ Open-Source Software Project หรือติดตั้ง Visual SVN Server และ Tortoise SVN ในเครื่องของคุณกรณีที่เป็น Project ส่วนตัว

4. อ่านหรือเขียน Code ที่เข้าใจยาก

เมื่อคุณเขียน Code เอง แน่นอนว่าคุณก็ต้องเข้าใจมันแน่ๆ แต่คำถามคือ แล้วคนอื่นๆ ล่ะ เขาจะเข้าใจเหมือนที่คุณเข้าใจหรือไม่ หรือ วันนี้คุณเขียน Code แต่ผ่านไปสัก 6 เดือน แล้วคุณกลับมาอ่านมันใหม่ คุณจะเข้าใจเหมือนตอนแรกที่เขียน Code นี้ไหม นี่คือ เหตุผลที่บริษัทต่างๆ ถึงได้มีมาตรฐานของการเขียน Code 
ทางแก้ไข : สร้างมาตรฐานของการเขียน Code ขึ้น โดยกำหนดหลักเกณฑ์หรือแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุด เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าใจได้ตรงกันไม่ว่าจะเป็น Code ที่เขียนโดย Developer คนไหนก็ตาม เช่น การตั้งชื่อ, การ Comment, การย่อหน้า, ความยาวของแต่ละบรรทัด หรือแม้แต่การกำหนดระยะห่างของแต่ละบรรทัดว่าจะเป็น single line หรือ multi line เป็นต้น

5. การประมาณระยะเวลาที่งานจะเสร็จสมบูรณ์

ในการทำงานฐานะที่เป็น Developer มืออาชีพ คุณจะถูกถามว่า จะใช้เวลาทำงานนานแค่ไหนงานถึงจะเสร็จ เพราะนี่คือสิ่งจำเป็นสำหรับการตั้งราคา ระยะเวลาในการทำงาน และประมาณการสิ่งที่คาดหวังต่างๆ ซึ่งมันอาจจะเป็นเรื่องที่ยากในการจะประมาณการว่าจะต้องใช้เวลามากน้อยแค่ไหน 
ทางแก้ไข : ใช้การย้อนกลับไปดูงานลักษณะที่คล้ายๆ กัน แล้วดูว่าเคยใช้เวลาในการทำนานแค่ไหน แต่ถ้าคุณไม่ทราบหรือไม่มีตัวอย่างของงานที่คล้ายกัน ให้คุณแบ่งงานนั้นออกเป็น งานย่อยๆ ที่มีขนาดเล็กลง และให้ประมาณระยะเวลาที่ต้องใช้ในแต่ละงานนั้นๆ ซึ่งน่าจะทำให้ใกล้เคียงความจริงมากขึ้น และคุณสามารถใช้แนวทางนี้สำหรับงานหรือ Project ที่ต้องเจอในอนาคตได้อีกด้วย
 
ที่มา: https://codeshare.co.uk/
 

 

รับตำแหน่งงานไอทีใหม่ๆ ด้วยบริการ IT Job Alert

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

เพิ่มเพื่อน

 

บทความที่เกี่ยวข้อง