4 types of bosses IT people should avoid

05-Jul-17

คัมภีร์เทพ IT

เหตุผลส่วนใหญ่ที่คนเราคิดเปลี่ยนงานมีอยู่ไม่กี่เรื่อง เงิน ความก้าวหน้า และเรื่องเพื่อนร่วมงานซึ่งก็รวมถึงหัวหน้างานด้วย สองเรื่องแรกเรามีโอกาสที่จะกำหนดเองได้มากกว่าเรื่องหลัง เพราะเรื่องเงินและความก้าวหน้ามักจะเป็นรางวัลสำหรับคนที่พัฒนาตัวเองอยู่เสมอได้รับเป็นสิ่งตอบแทน แต่เรื่อง “คน” รอบข้างในที่ทำงาน เป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ยาก ยิ่งโดยเฉพาะหัวหน้างาน บุคคลสำคัญที่มีผลต่อการเลื่อนตำแหน่ง ปรับเงินเดือน ด้วยแล้ว เราจะรับมือกับอย่างไร หากเจอกับ “หัวหน้างานเจ้าปัญหา” แบบใดแบบหนึ่งใน 4 แบบนี้
 

  1. เอาผลงานไปเป็นของตัวเอง
    ถ้าคุณเป็นคนไอทีที่ตั้งใจทำงาน มีไอเดียดีๆ ที่ช่วยสร้างรายได้ให้บริษัท เช่น เสนอ Project สร้าง Mobile App แต่สุดท้ายโดนหัวหน้าขโมยผลงานไปเป็นของตัวเอง เจอแบบนี้ เป็นใครก็เสียความรู้สึก ยิ่งงานบางอย่างเป็น Project ใหญ่ที่หลายๆ คนในทีมร่วมกันคิดร่วมกันทำ แต่พอหัวหน้างานไป Present ต่อผู้บริหาร กลับไม่บอกเลยว่าผลงานนี้มาจากการที่ลูกทีมช่วยกันเสนอแนะไอเดียและทำจนสำเร็จ ถ้าหัวหน้าเป็นแบบนี้ ลูกน้องที่ไหนจะอยากเสนอและสร้างผลงานดีๆ ให้ล่ะ

     
  2. เลือกปฏิบัติ มี “ลูกรักลูกชัง”
    ที่หัวหน้าเลือกปฏิบัติ เอาใจใส่แต่ลูกน้องบางคน แต่กลับเพิกเฉยไม่ใส่ใจดูแลลูกน้องคนอื่นๆ เวลามีงานอบรมสัมมนาด้าน IT หรือคอร์ส Training ก็มักจะเลือกมอบโอกาสให้แต่กับพนักงานเพียงบางคนเท่านั้น ทั้งที่ยังมีพนักงานอีกหลายคนที่มีศักยภาพในการเรียนรู้และตั้งใจอยากที่เรียนรู้แต่กลับไม่เคยได้รับโอกาสดีๆ เหล่านั้นเลย เชื่อว่าหน่วยงานไหนที่มีหัวหน้างานแบบนี้ คงมีปัญหาเรื่อง Turn over สูงแน่นอน

     
  3. ไม่ช่วยแก้ปัญหา แต่กลับหา “แพะรับบาป”
    ในการทำงานมันย่อมต้องมีข้อผิดพลาดกันบ้าง จะมากจะน้อยหรือเรื่องใหญ่เรื่องเล็กก็แล้วแต่ เคยเจอไหม เวลาที่เกิดปัญหาหรือเกิดข้อผิดพลาด พอหัวหน้ารู้ก็จะ “รีบตำหนิ” ต้องหาใครสักคนมารองรับการตำหนินั้นให้ได้ ก่อนการ “รีบแก้ไขปัญหา” ยิ่งลูกน้องคนไหนไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยโต้แย้งอะไร แล้วบังเอิญเข้าข่าย ก็มักจะโดนตำหนิบ่อยๆ หัวหน้าแบบนี้ มักจะทำให้คนในทีมไม่กล้าและไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมใดๆ หากไม่จำเป็นจริงๆ เพราะรู้ว่า ถ้าเกิดทำอะไรพลาดก็ต้องโดนตำหนิสู้อยู่เฉยๆ ดีกว่า

     
  4. “มือกรรไกร” ตัดโอกาสความก้าวหน้าของลูกน้อง
    หัวหน้าบางคนพอเห็นว่าลูกน้องเก่ง มีความสามารถ มีความเป็นผู้นำมากกว่าตนเอง ก็เกิดความรู้สึกไม่ชอบ ไม่ถูกใจขึ้นมาทันที แทนที่จะใช้โอกาสนี้ในการผลักดันให้ลูกน้องได้แสดงความสามารถ เพื่อช่วยส่งเสริมให้ภาพรวมทั้งแผนกได้มีผลงานที่ดีๆ กลับใช้วิธีการปัดแข้งปัดขาลูกน้อง ไม่ให้โอกาสลูกน้องแสดงฝีมือ เวลาลูกน้องเสนอไอเดียที่ดีและมีประโยชน์อะไรก็ไม่เคยสนใจ เชื่อเถอะว่า ลูกน้องที่เก่งๆ เขาคิดเป็น เขารู้ว่าควรจะอยู่ต่อหรือไปทำงานที่อื่นดี


 

แนวทางการรับมือกับ “หัวหน้างานเจ้าปัญหา”

  1. กล้าแสดงความเห็นในที่ประชุม
    เวลามีประชุมในทีมงานหรือประชุมร่วมกับหน่วยอื่นๆ อยากให้คุณ “กล้าแสดงความคิดเห็นที่ดีและมีประโยชน์” ไปเลย เพราะอย่างน้อยคนที่อยู่ในห้องประชุมจะได้รับรู้ว่าคุณมีความสามารถและมีศักยภาพ ยิ่งไอเดียคุณมีประโยชน์ต่อแผนกหรือผู้เข้าร่วมประชุม ก็คงไม่มีใครอยากจะปฏิเสธหรอก และถ้ามีโอกาสก็ลองเสนอตัวเองในการทำสรุปผลการประชุมเองเสียเลย คนอื่นจะได้ไม่มามั่วนิ่มเรื่องใครเสนออะไร รับผิดชอบอะไรบ้าง และจะได้เป็นการตอกย้ำว่าข้อเสนอในที่ประชุมครั้งนั้น มันมาจากคุณแน่นอน

     
  2. เสนอตัวเองโดยไม่ต้องมีใครมอบหมาย
    ถ้ามั่นใจว่าโปรเจคไหนเราทำได้หรืออยากทำ ก็ให้เสนอตัวเป็น Project Leader ไปเลย เพราะคุณจะได้มีสิทธิ์ในโปรเจคนี้เต็มที่ อีกอย่าง จะได้ทำให้คนอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้เห็นศักยภาพที่แท้จริงของคุณ

     
  3. ควรจะมีหลักฐานทุกครั้งในการสื่อสารระหว่างกัน
    การที่คุณมีหลักฐานทุกครั้งที่คุณเสนอแนะไอเดีย หรือมีข้อสรุปอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับคุณ เช่น จากการประชุม เป็นต้น จะทำให้หัวหน้าคุณ (รวมทั้งคนอื่นๆ) มาโบ้ยความผิดหรือยัดเยียดความเป็นแพะให้คุณไม่ได้ อย่าคุยแค่ปากเปล่า ควรสรุปย้ำไปอีกครั้งในอีเมล์ แบบนี้ Safe ที่สุด

     
  4. พยายามสร้างโอกาสให้ตัวเองเสมอ
    ไม่ว่าใครจะขัดขวางคุณด้วยวิธีการใดก็ตาม ถ้าคุณพยายามหาช่องทางในการพัฒนาตัวเองหรือแสดงความสามารถ มันต้องแสดงผลออกมาสักวันและมีคนเห็นแน่นอน ถ้าคุณพยายามเต็มที่สุดๆ แล้ว แต่ไม่สามารถทำอะไรได้เลย การลาออก ก็ดูจะเป็นทางเลือกที่ดีที่สุด ถ้าคุณมีความสามารถจริงๆ มีคุณสมบัติที่เหมาะสม เชื่อว่า ที่ทำงานไหนๆ เขาก็อยากรับคุณเข้าทำงาน

 

สำหรับบทความนี้ ไม่ได้ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อที่จะโจมตีคนเป็นหัวหน้างาน ซึ่งที่จริงแล้วไม่ว่าจะตำแหน่งไหนๆ ทุกคนล้วนมีข้อเสียในตัวเองทั้งสิ้น แต่สำหรับคนเป็นลูกน้องแล้ว “หัวหน้างาน” ถือเป็นบุคคลสำคัญที่มีผลต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพของลูกน้อง ประเด็นที่ทีมงานต้องการสื่อคือ เมื่อเราเจอปัญหาอะไร เราก็ควรหาทางแก้ปัญหาให้ถึงที่สุดก่อน บางครั้งเราเลือกคบเพื่อนร่วมงานได้ แต่เราเลือกหัวหน้างานไม่ได้ หวังว่าคนไอทีที่กำลังเจอปัญหาอยู่จะใช้โอกาสนี้ ในการพยายามหาทางแก้ไขาเพื่อแสดงศักยภาพให้คนอื่นได้เห็นนะครับ


 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง