รู้จัก “DevOps” ให้มากขึ้น "ตำแหน่ง" ที่องค์กรต่างมองหา

27-เม.ย.-17

คัมภีร์เทพ IT

 

เมื่อไม่กี่ปีมานี้ มีคนไอทีเพียงแค่จำนวนหนึ่งที่เคยได้ยินหรือรู้จักคำว่า DevOps” เพราะยังไม่ค่อยแพร่หลายในไทย (แต่ต่างประเทศกลับเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี) แต่ในช่วง 1-2 ปีมานี้ เชื่อว่าคนไอทีหลายๆ คน คงเริ่มรู้จักคำว่า DevOps กันมากขึ้น เพราะ เริ่มมีหลายๆ องค์กร ประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับ DevOps เพิ่มมากขึ้น

 

มาทำความรู้จักกับ DevOps กันซะหน่อย สำหรับคนไอทีที่ยังไม่รู้ว่ามันคืออะไร ถ้าพิจารณาในแง่ของแนวคิด คำว่า “DevOps” มาจาก คำว่า “Development” กับ “Operation” แต่ถ้าจะเอานิยามแบบรวมๆ ให้ครบถ้วนจริงๆ มันควรจะครอบคลุมไปถึงการ ประกันคุณภาพ หรือ Quality Assurance (QA) ด้วย มีเป้าหมายเพื่อให้การทำงานร่วมกันระหว่างทีมที่พัฒนา (Development) คือ Developer และทีมที่ปฏิบัติการ (Operation) คือ System Admin หรือฝ่าย Infrastructure เกิดความราบรื่นเรียบร้อย ไร้ปัญหาติดขัดต่างๆ หากถามว่า แล้วปัจจุบันมีปัญหาอะไรระหว่าง 2 ทีมนี้ คำตอบคือ นอกจากแต่ละทีมจะมีหน้าที่แตกต่างกันแล้ว ยังมีเป้าหมายของทีมที่แตกต่างกันออกไปด้วย และยังแยกกันทำงานอีก จึงส่งผลให้เกิดปัญหาและข้อขัดแย้งต่างๆ มากมาย อีกทั้งยังมีเรื่องของเครื่องมือที่แต่ละทีมใช้ก็แตกต่างกัน รวมๆ คือ ทั้ง 2 ทีมมีความแตกต่างกันแทบจะทุกเรื่อง จึงเกิดแนวคิด DevOps ขึ้นมานี่แหละ เมื่อรู้จักที่มาที่ไปของ DevOps กันมาพอสมควรแล้ว เรามาดูกันว่า ทำไม DevOps ถึงเป็นสิ่งที่หลายๆ องค์กรเริ่มหันมาสนใจและต้องการบุคลากรที่มีทักษะด้านนี้มากขึ้น

 

  1. ลดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อน 
    ถึงแม้แต่ละทีมจะทำงานแยกกัน แต่คนไอทีเองก็มักจะพบปัญหาเรื่องการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันอยู่ในบางส่วน เช่น เมื่อ Developer พัฒนา Software มักจะมีระบบ Install / Uninstall มาด้วย และเมื่อส่งต่องานมาที่ฝั่ง Infrastructure ซึ่งมีหน้าที่พิจารณาปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น เรื่อง System Environment หากพิจารณาแล้วพบว่ามีบางส่วนของ Software ที่ยังไม่สมบูรณ์และจำเป็นต้องได้รับการแก้ไขให้เหมาะสม งานในส่วนนี้ก็จะไปซ้ำซ้อนกับสิ่งที่ทีม Developer ดูแลอยู่ และเมื่อถูกแก้ไขไปแล้วก็อาจส่งผลให้ระบบไม่ Stable และเกิดข้อผิดพลาดอื่นๆ ตามมา ซึ่งอาจจะต้องโยนงานกลับไปที่ทีม Developer แก้ไขปัญหาอีกที จะเห็นได้ว่า แต่ละทีมก็มีเป้าหมายและมุ่งทำแต่ในส่วนของตัวเอง เมื่อทำงานของตัวเองเสร็จแล้วก็มักจะ “โยนงาน” ไปให้อีกทีมดูแลต่อ พอปรับแก้เสร็จแล้วก็โยนกลับไปอีก สรุปแล้วคือโยนกลับกันไปมา พอจะเห็นภาพไหมว่า สุดท้ายก็ “ตีกัน” 

    แต่แนวทาง DevOps จะสามารถช่วยลดปัญหาเหล่านี้ โดยจะเข้ามาปรับเปลี่ยนขั้นตอนการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทีมงานจะมีการวางแผนกันอย่างชัดเจนว่าใครทำอะไร ตรงส่วนใด เมื่อใด ทำให้ไม่เกิดปัญหาการทำงานที่ซ้ำซ้อนกันและลดความขัดแย้งระหว่างทีมงานลงได้

     
  2. ช่วยพัฒนาศักยภาพให้คนไอทีมีความรู้ที่ครอบคลุมมากขึ้น 
    จากปัญหาที่เกิดจากการทำงานแยกทีมกัน ทำให้แต่ละทีมมีความรู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในแต่ละด้านไป ทางฝั่ง Developer ไม่มีความรู้ความเข้าใจงาน Infra. แบบลึกซึ้ง ในขณะที่ทีม Infra. เองก็ไม่ถนัดในการเขียนโปรแกรม แต่แนวคิด DevOps ได้เข้ามาช่วยปรับให้การ Utilize คนไอทีในแต่ละทีมให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะจับคนทั้ง 2 ทีมมาเรียนรู้งานแต่ละส่วนร่วมกัน ทำให้เกิดแชร์ความรู้ซึ่งกันและกัน (Knowledge Sharing) หรืออย่างน้อยก็ได้เข้าใจงานของอีกทีมมากขึ้น

     
  3. ทำให้ Flow การทำงานราบรื่น 
    ปกติเวลาทำงาน ผู้ดูแลระบบมักจะมีส่วนที่ต้อง Manual อยู่หลายขั้นตอน ซึ่งก็อาจส่งผลให้เกิดความล่าช้าและความผิดพลาดอยู่บ้าง แต่แนวคิด DevOps เป็นแนวทางที่มุ่งหวังให้งานทุกอย่างมันทำงานได้แบบราบรื่นด้วย Network Automation ทำให้ลดความผิดพลาด ในขณะเดียวกันก็เกิดความรวดเร็วในการทำงานอีกด้วย

     

จะเห็นว่าแนวคิด DevOps ถือเป็นแนวคิดที่ดี เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมุ่งเน้นให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ลดปัญหาในการทำงาน แต่มันก็ไม่ง่ายเลยที่จะพัฒนาทีมงานหรือคนขึ้นมาให้มีความรู้ความสามารถที่หลากหลาย แต่ถ้าคุณสามารถทำได้ เชื่อมั่นเลยว่าคุณจะเป็นที่ต้องการของหลายๆ องค์กรอย่างแน่นอน 

 

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง