“อะไรที่เสียบปลั๊กได้ ก็เกี่ยวกับไอทีหมด” เฮ๊ย! แบบนี้ก็ได้เหรอ

29-มี.ค.-17

คัมภีร์เทพ IT

 

เคยไหม? แค่สายจอมอนิเตอร์หลุดก็เรียกเราไปเสียบ (ก็หน้าตาไม่เหมือนปลั๊กที่บ้านนี่นา) เคยไหม? ที่โดนเรียกไปย้ายเครื่อง PC เพราะกลัวว่าถ้าต่อสายต่างๆ เองแล้วจะไม่เหมือนเดิม หรือคิดว่าเป็นหน้าที่ของไอที และที่สุดของแจ้ ก็คือ มีคนเข้าใจว่า อะไรก็ตามที่เสียบปลั๊กได้ ก็ถือว่าเกี่ยวกับไอทีทั้งหมด” แหม! คนไอทีได้ยินแล้วคงอยากจะอุทานออกมาว่า “โอ้วพระเจ้ายอด มันจอร์ชมาก” บางคนที่อ่านหัวข้อแล้ว คงกำลังหัวเราะใช่ไหม แต่มีคนคิดแบบนี้จริงๆนะ แถมมีเยอะซะด้วย (เชื่อผมเถอะ ถ้าไม่เชื่อให้ลิงออกลูกเป็นไก่เลย เอ้า)
 

ใครที่ทำงานด้านไอที เชื่อว่าน่าจะเคยรู้สึกหรือเจอสถานการณ์ ที่คนในสาขาอาชีพอื่นมีเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับงานและบุคลากรทางด้าน IT ดังที่เกริ่นมาตอนต้นแล้วไม่มากก็น้อย และไม่ใช่แค่ในส่วนของ IT Support หรอกนะที่เจอ แม้แต่ Programmer, Web Developer หรือ “สิ่งมีชีวิตใดก็ตาม” ที่สังกัดอยู่ฝ่ายไอที ก็โดนกันแทบทู๊กกกคน โดยเฉพาะคนไอทีที่ต้องทำงานในองค์กรที่ไม่ได้อยู่ในธุรกิจ IT Consult, Software House หรือ เกี่ยวกับแวดวง IT & Technology แล้ว เชื่อว่าหลายคนคงกุมขมับ (บางคนอาจจะกุมลามไปถึงท้ายทอยเลยทีเดียว ฮ่าๆๆ) เพราะต้องเจอกับเหล่ายูสเซอร์ (User) สุดเหี้ยมโหด ซึ่งคำว่าเหี้ยมโหดในทีนี้คือ การที่ยูสเซอร์ที่ไม่มีความรู้ทางด้านไอทีและไม่ยอมเรียนรู้เลย หรืออาจรู้มาบ้างเล็กน้อยแต่คิดว่ารู้เยอะ รวมทั้งกลุ่มที่มีความเชื่อความเข้าใจผิดๆ เกี่ยวกับไอทีอีกหลายเรื่อง ซึ่งตัวอย่างที่ยกมาช่วงต้นนั้นแค่เบาะๆ จิ๊บๆ เอง
 

แต่มาถึงจุดนี้ (แล้วมัน จุดไหนล่ะ ^^’) คนไอทีคงคิดต่อว่า แล้วจะแก้ปัญหาจากยูสเซอร์เหล่านี้ยังไงดี มาดูวิธีแก้ไขเบื้องต้นกันเลย
 

  1. ทำใจและปล่อยวาง (จริงๆ ไม่ได้กวนนะ) อย่างแรกให้ปรับใจของเราก่อน ลองนึกดูสิว่า เราก็มีสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่รู้ อยู่หลายเรื่อง ยูสเซอร์ก็เหมือนกัน เขาก็ไม่มีความรู้ไอทีหรือรู้น้อยกว่าเรา ดังนั้น อย่าไปรำคาญหรือโกรธเขาเลย (มาแนวไอทีสายธรรมะ ชัดๆ) เขาเจอปัญหาไหนก็ลองแนะวิธีตรวจสอบหรือแก้ไขเบื้องต้น เช่น วันนี้เจอปัญหานี้ ก็บอกวิธีแก้ไขของครั้งนี้ เพราะถ้าเจอกรณีแบบนี้อีก ยูสเซอร์เขา(น่า)จะพอจำได้ว่าเราเคยแนะนำอะไรไว้ อย่าสอนทีละเยอะๆ เขาคงไม่เข้าใจและจำไม่ได้
     
  2. ทำคู่มือแก้ปัญหาเบื้องต้น (งานนี้ เจ็บแต่จบนะ) อะไรเป็นปัญหาที่พบบ่อยๆ หรือสามารถตรวจสอบแก้ไขได้ง่ายๆ ฝ่ายไอทีก็ลองทำคู่มือแผ่นเล็กๆ แปะไว้ที่ PC หรือจะส่งเป็นไฟล์ให้ยูสเซอร์ก็แล้วแต่ เจ็บช่วงแรก คือ ต้องมานั่งเขียนเรียบเรียง อธิบาย Capture รูปภาพ ซึ่งทำให้เสียเวลาสักหน่อย แต่มันก็จบ ตรงยูสเซอร์หลายคน (ที่ไม่เซ่อ) เขาก็ชอบที่จะแก้ปัญหาด้วยตัวเองนะ บางคนไม่ชอบรอให้ฝ่ายไอทีมาแก้ไขให้ ถ้าทำได้เขาก็ทำเองทันที แบบนี้เรียกว่า Win-Win เพราะฝ่ายไอทีก็ลดงานยิบย่อยลง ส่วนยูสเซอร์ก็มีความรู้ด้านไอทีเพิ่มขึ้นอีกด้วย
     
  3. ทำแผน Training ซะเลย ถ้าสามารถทำได้ อาจลองเสนอแผนกับทาง IT Manager ดูว่า น่าจะมีการจัด Training เรื่องความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์เบื้องต้นให้กับบุคลากรในองค์กรที่สนใจดู อาจจะเป็นด้านเทคนิค หรือพวกการใช้ MS Word, Excel, PowerPoint ซึ่งเป็นโปรแกรมพื้นฐานที่ทุกคนในองค์กรต้องใช้ ก็ดูจะมีประโยชน์มาก นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาดังที่เกริ่นมาในข้อ 2 แล้ว ยังช่วยให้คนไอทีได้ฝึกเรื่องการสื่อสารกับผู้อื่น (ซึ่งเป็นทักษะที่คนไอทีมักจะมีปัญหา) และเป็นการสร้างความสัมพันธ์อันดีกับคนต่างแผนกได้อีกด้วย คิดดูถ้าวันหนึ่งฝ่ายไอทีจำเป็นต้องเก็บ Requirements หรือประสานงานกับแผนกอื่นๆ การที่เรารู้จักหรือสนิทสนมกับคนในแผนกนั้น มันน่าจะช่วยให้การประสานงานผ่านไปได้ด้วยดีและง่ายขึ้น
     

คนไอทีท่านใดอ่านบทความนี้แล้ว ก็ลองเอาวิธีแก้ไขที่แนะนำไว้ไปลองปรับใช้กันดู ถ้าได้ผลดีก็มาบอกกันบ้าง แต่ถ้าไม่ได้ผลก็ให้ไปฟ้องลุงตู่เลย (Oops!) เอาเป็นว่า ทีมงานเทคสตาร์ ขอเป็นกำลังใจให้คนไอทีทุกคน สู้ๆ มีสติ และมีความ Strong Strong Strong กับทุกสถานการณ์นะครับ

 

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง