1 ใน 3 ของคนไอทีทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่กับงานประจำ เทคสตาร์ฯ เผยผลสำรวจคนทำงานสายไอทีล่าสุด

09-พ.ย.-17

คัมภีร์เทพ IT

        เมื่อเร็วๆ นี้ TechStarThailad.com เว็บหาคนสายงานไอทีโดยเฉพาะ เผยผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับการทำงานของคนสายงานไอทีและดิจิตอล พบว่า คนไอทีส่วนใหญ่ไม่ว่าจะกำลังทำงานประจำ สัญญาจ้าง หรือฟรีแลนซ์ อยู่ในปัจจุบัน หากพวกเขาคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ 87% จะเลือก “งานประจำ” มากกว่างานประเภทอื่น โดย 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้จะเลือกทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย เมื่อสอบถามถึงความพึงพอใจต่องานที่กำลังทำอยู่ คนในสายงานไอทีมีความพอใจคิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 7 เต็ม 10 คะแนน โดยกลุ่ม First Jobber เป็นกลุ่มที่ให้คะแนนความพึงพอใจต่ำที่สุด ในส่วนของรายได้เมื่อแยกตามประเภทของงานพบว่า กลุ่มคนไอทีที่ทำงานสัญญาจ้างส่วนใหญ่ (40%) จะ “มีรายได้เหลือมากเพียงพอสำหรับเก็บออมหรือลงทุน” ในขณะที่กลุ่มคนทำงานประจำและฟรีแลนซ์มากกว่าครึ่งบอกว่า “มีรายได้เพียงพอแต่ไม่ค่อยมีเหลือเก็บ” นอกจากนี้ คนสายงานไอทีที่กำลังว่างงานส่วนใหญ่ (61%) มีความคิดเห็นว่า “รายได้”และ “ความสะดวกในการเดินทาง” เป็นปัจจัยต้นๆ ในการตัดสินใจเลือกที่ทำงาน

 

        คุณจุลเดช มัชฉิมานนท์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เทคสตาร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งเป็นเว็บไซต์สมัครงานสำหรับคนไอทีโดยเฉพาะเปิดเผยว่า ทางเทคสตาร์ (ประเทศไทย) ได้ทำแบบสำรวจความคิดเห็นกลุ่มคนไอทีในฐานสมาชิกของเว็บไซต์ TechStarthailand.com ในทุกช่วงอายุ ทุกประเภทของงาน และทุกสาขาของงานไอที จำนวน 452 ราย เกี่ยวกับความคิดเห็นและทัศนคติต่องานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน รวมทั้งเรื่องเงินๆ ทองๆ ไม่ว่าจะเป็น รายได้ รายจ่าย ค่าครองชีพ หรือแม้แต่รูปแบบการออมเงิน ของคนไอทีว่า ณ ปัจจุบันมีสถานการณ์เป็นอย่างไรบ้าง โดยผลสำรวจนี้มุ่งหวังว่าจะสะท้อนมุมมองของคนไอที เพื่อเป็นประโยชน์ต่อนายจ้างในการใช้พิจารณาเกี่ยวกับนโยบายด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

        “ผลสำรวจทำให้เห็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเภทของงานกล่าวคือ เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเภทงานกับช่วงอายุ กลุ่มคนทำงานแบบสัญญาจ้างในสายงานไอทีส่วนใหญ่อยู่ในช่วงอายุ 21 - 25 ปี โดยในจำนวน 10 คน จะมี 1 – 2 คนที่ทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย ในขณะกลุ่มคนทำงานประจำและฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วยส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วงอายุ 26 – 35 ปี และกลุ่มคนไอทีในช่วงอายุ 36 ปีขึ้นไป ส่วนใหญ่จะทำงานประจำเพียงอย่างเดียวส่วนใหญ่จะอยู่ จากข้อมูลนี้ สะท้อนให้เห็น ว่า ช่วงที่อายุงานน้อยๆ หรือ “First Jobber” เป็นช่วงที่สามารถเก็บเกี่ยวประสบการณ์ที่หลากหลายและหารายได้ (ที่สูงกว่างานประจำ) ได้ พอประสบการ์ทำงานมากขึ้นก็เริ่มรับงานฟรีแลนซ์ทำควบคู่ไปด้วย จนพออยู่ในระดับ Senior หรือเริ่มทำงานในระดับผู้บริหาร มีหน้าที่การงานมั่นคงขึ้น ก็เน้นทำงานประจำเป็นหลัก”

           

        เมื่อสอบถามถึงความรู้สึกที่มีต่องานที่ทำในปัจจุบันพบว่า คนไอทีมีความพึงพอใจต่องานที่ทำอยู่คิดเป็นคะแนนเฉลี่ย 71 จาก 100 คะแนนเต็ม โดยกลุ่มคนทำงานประจำเป็นกลุ่มเดียวที่ให้คะแนนเกินค่าเฉลี่ยโดยรวมคือ 79 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม รองลงมาคือ กลุ่มคนที่ทำงานประจำและฟรีแลนซ์ให้คะแนนความพอใจ 70 คะแนน คนทำงานฟรีแลนซ์ 67 คะแนน และคนที่ทำงานสัญญาจ้าง 62 คะแนน ตามลำดับ

 

        เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ "ข้อดี” ของประเภทงานที่คนไอทีทำอยู่ (เลือกได้ 3 หัวข้อ) พบว่า คนไอทีส่วนใหญ่มองเห็นข้อดีเรื่อง “ความอิสระในการทำงาน” และ “ได้รับโอกาสในการเรียนรู้” สูงถึง 42% เท่ากัน ตามมาด้วย “ความมั่นคงของบริษัท” 38% การเดินทางสะดวกรวดเร็ว 35% และมีรายได้ดี (รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่เป็นตัวเงิน เช่น Bonus, OT เป็นต้น) 34% ซึ่งจะเห็นว่ามีเปอร์เซ็นต์ที่ไม่ต่างกันมากนัก

 

        แต่พอพิจารณาตามประเภทงานแล้วพบว่า คนไอทีที่ทำงานในแต่ละประเภทมีความคิดเห็นต่อ “ข้อดี” ของงานที่ตัวเองทำอยู่ต่างกันออกไป กล่าวคือ คนที่ทำงานประจำส่วนใหญ่คิดว่า ข้อดีคือ การได้รับโอกาสในการเรียนรู้ รองลงมาคือ ความมั่นคงของบริษัท ในขณะที่ คนที่ทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วยคิดว่า ข้อดีคือ รายได้ที่ดี รองลงมาคือ ได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ส่วนคนไอทีที่ทำงานสัญญาจ้างส่วนใหญ่คิดว่า ข้อดีคือ การเดินทางที่สะดวกรวดเร็ว รองลงมาคือ มีความอิสระในการทำงานสูง และคนไอทีที่ทำงานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่คิดว่า ข้อดีคือ ความอิสระในการทำงานสูง รองลงมาคือ รายได้ที่ดี

           

        เมื่อสอบถามเกี่ยวกับ "ข้อเสีย” ของประเภทงานที่คนไอทีทำอยู่ “ (เลือกได้ 3 หัวข้อ) พบว่า คนไอทีส่วนใหญ่มองเห็นข้อเสียเรื่อง “โอกาสในการเติบโตในสายอาชีพต่ำ” 42% ตามมาด้วย “รายได้น้อย” (รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่เป็นตัวเงิน เช่น Bonus, OT เป็นต้น) 36% และ “ไม่ค่อยมีสวัสดิการ” 34%

 

        เมื่อพิจารณาตามประเภทงานแล้วพบว่า คนไอทีที่ทำงานประจำส่วนใหญ่คิดว่า ข้อเสียคือ โอกาสในการเติบโตในสายอาชีพต่ำ รองลงมาคือ รายได้น้อย ในขณะที่คนไอทีที่ทำงานสัญญาจ้างและคนที่ทำงานฟรีแลนซ์ส่วนใหญ่คิดว่า ข้อเสียหลักๆ คือ ไม่ค่อยมีสวัสดิการ

 

        สำหรับเรื่องรายได้ของคนไอทีเมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและค่าครองชีพ พบว่า ครึ่งหนึ่ง (50%) มีรายได้เพียงพอแต่ไม่ค่อยเหลือเก็บออม รองลงมา 34% มีเหลือมากเพียงพอสำหรับเก็บออม/ลงทุน ที่เหลือ 16% รายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย/ค่าครองชีพ หากพิจารณาตามประเภทงานแล้วพบว่า คนที่ทำงานสัญญาจ้างส่วนใหญ่ (40%) มีรายได้เหลือมากเพียงพอสำหรับเก็บออม/ลงทุน ในขณะที่คนทำงานประจำและฟรีแลนซ์ครึ่งหนึ่ง (50%) บอกว่า มีรายได้เพียงพอแต่ไม่ค่อยมีเหลือเก็บออม

 

        ส่วนประเด็นที่ว่า ค่าใช้จ่าย/ค่าครองส่วนใหญ่ เสียไปกับเรื่องใดบ้าง จากผลสำรวจได้ข้อมูลว่า คนไอทีเสียค่าที่พักอาศัย/ค่าผ่อนที่พักอาศัย ถึง 33% ตามด้วย ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม, ค่าเดินทาง/ค่าน้ำมัน/ค่าผ่อนรถ และค่าส่งเสียเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัว 17% เท่ากัน พอพิจารณาตามประเภทงานแล้วพบว่า คนไอทีที่เพิ่งเริ่มทำงานส่วนใหญ่ในช่วง 21 – 25 ปี จะเสียค่าใช้จ่ายไปกับ ค่าอาหาร/เครื่องดื่ม คนไอทีช่วงอายุ 26 ปีขึ้นไป ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่จะหมดไปกับ ค่าที่พักอาศัย/ค่าผ่อนที่พักอาศัย โดยมีสัดส่วนของค่าส่งเสียเลี้ยงดูบุคคลในครอบครัวเพิ่มขึ้นแปรผันตามช่วงอายุที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

 

        สำหรับเรื่องการเก็บออม/ลงทุน พบว่า คนไอทียังเน้นใช้รูปแบบพื้นฐาน 3 อันดับแรก คือ ฝากธนาคาร มากถึง 63% ตามมาด้วย เงินสมทบกองทุนประกันสังคม 50% และเงินสะสมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ 42% ส่วนอีก 2 อันดับสัดส่วนพอๆ กันคือ ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ 33% และ ลงทุน LTF/RMF 32%

 

        หากเปรียบเทียบสัดส่วนการลงทุนโดยจำแนกกลุ่มตามช่วงอายุจะพบว่า คนไอทีช่วงอายุ 21 – 30ปี ลงทุนไปกับการเล่นหุ้นมากที่สุด รองลงมาคือ กองทุนรวม และซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ตามลำดับ ในขณะที่คนทำงานไอทีช่วงอายุ 31 – 35ปี ส่วนใหญ่เลือกที่จะลงทุน LTF/RMF มากที่สุด รองลงมาคือ ซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์ อันดับ 3 คือ ลงทุนในหุ้น ตามลำดับ ส่วนคนทำงานไอทีอายุ 36ปีขึ้นไป เลือกที่จะลงทุนโดยการซื้อประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์มากที่สุด รองลงมาคือ LTF/RMF และกองทุนรวม ตามลำดับ


 

        หากคนไอทีคิดจะเปลี่ยนงานใหม่ 87% จะเลือก “งานประจำ” (Permanent job) มากกว่างานประเภทอื่น โดย 1 ใน 3 ของคนกลุ่มนี้จะเลือกทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย ในขณะที่ประเภทงานที่คนไอทีอยากทำน้อยที่สุดคือ งานสัญญาจ้าง คิดเป็น 8% โดยในจำนวนนี้ 4 ใน 5 ของคนกลุ่มนี้เลือกที่จะทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่ไปด้วย

 

        นอกจากนี้ ในแบบสำรวจยังได้สอบถามความคิดเห็นของคนไอทีที่กำลังว่างงานอยู่ว่าพวกเขาใช้ปัจจัยใดบ้างในการเลือกที่ทำงาน จากผลสำรวจพบว่า รายได้ (รวมถึงรายได้อื่นๆ ที่เป็นตัวเงิน เช่น Bonus, OT เป็นต้น) และความสะดวกในการเดินทาง ถือเป็นปัจจัยหลักในการพิจารณาเลือกที่ทำงาน คิดเป็น 61% เท่าๆ กัน ตามมาด้วยเหตุผลอื่นๆ ได้แก่ โอกาสในการได้เรียนรู้และ ความอิสระในการทำงาน คิดเป็น 44% เท่าๆ กัน

 

        “ไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยว่า ทำไมคนทำงานส่วนใหญ่อยากทำงานประจำมากกว่างานประเภทอื่นๆ ด้วยเหตุผลในเรื่องของความมั่นคงและความแน่นอนของรายได้ แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่าแนวโน้มการจ้างงานฟรีแลนซ์เพิ่มสูงขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะการจ้างงานฟรีแลนซ์ในกลุ่มบริษัท SMEs หรือ Startups ที่ต้องการจ้างงานบุคลากรที่มีทักษะเฉพาะด้าน เป็นครั้งคราว จากผลสำรวจจะเห็นได้ว่า คนไอทีประมาณ 1 ใน 3 ทำงานฟรีแลนซ์ควบคู่กับงานที่ตัวเองทำอยู่ด้วย ส่วนงานประเภทสัญญาจ้างอาจยังไม่เป็นที่นิยมมากนักในตลาดงานในประเทศไทย เมื่อเปรียบกับต่างประเทศ ส่วนใหญ่การจ้างงานลักษณะนี้จะอยู่ในบริษัทข้ามชาติเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งจากฐานข้อมูลด้านอัตราเงินเดือนของเทคสตาร์ฯ พบว่า งานสัญญาจ้างจะได้รับค่าตอบแทนที่มากกว่างานประเภทอื่นๆ แต่ในขณะเดียวกับก็มีความคาดหวังของงาน (Job Requirement) ที่สูงกว่างานประเภทอื่นด้วยเช่นกัน” นายจุลเดช กล่าวทิ้งท้าย

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง