เมื่อตัดสินใจลาออกจากงาน เพราะอยากเป็น UX Designer

31-ต.ค.-17

คัมภีร์เทพ IT

เชื่อว่าคนทำงานหลายๆ คน อาจเคยคิดลาออกจากงานงานหนึ่ง เพื่อมาเริ่มต้นทำงานที่ตัวเองรัก สำหรับบทความนี้ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของ Vivian Chung เธอตัดสินใจลาออกจากงานเพราะต้องการเป็น UX Designer ซึ่งทีมงาน TechStar ได้สรุปเรื่องราวของเธอมาให้อ่านกันครับ

 

Vivian คือใคร?

Vivian จบการศึกษาระดับปริญญาตรีด้าน International Relations และ Environmental Studies สาขา French Studies จาก University of Toronto จากนั้นเธอตัดสินใจเรียนต่อปริญญาโทที่ University of Toronto ในสาขา Global Affairs เพราะคิดว่าความรู้ที่มียังไม่มากพอ (แต่จริงๆ แล้ว เธอยังกลัวการก้าวสู่โลกของการทำงาน) หลังจากจบการศึกษาวิเวียนเริ่มทำงานกับหน่วยงานของเทศบาลที่ดูแลเรื่องการปรับปรุงอาคารทั่วประเทศ ในระหว่างนี้เธอยังได้ให้คำปรึกษาในเรื่องที่เกี่ยวกับนวัตกรรมและความรู้ในเรื่องดิจิตัลด้วย แต่เธอกลับรู้สึกว่า ยังไม่ได้ใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ เลยพยายามมองหางานอื่นๆ เธอได้ลงทะเบียนเรียนในหลักสูตร UX Designer  แบบเต็มเวลาที่ RED Academy และยื่นหนังสือลาออกกับหัวหน้างาน

 

ว่าแต่...แล้วอย่างไรล่ะ?

ไม่เพียงแต่สาเหตุว่า “ทำไม” แต่ Vivian อยากเสนอว่า “อย่างไร” ด้วย เธออธิบายว่า กระบวนการคิดของเธอ มันมีทั้งประเด็นในเรื่องของความคิดส่วนตัวและส่วนของเหตุผล (ทางทฤษฎี) มาประกอบในการตัดสินใจเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอในครั้งนี้ด้วย “นี่ไม่ใช่การแนะนำเรื่อง How-to แต่มันคือสิ่งที่ทำให้เธอสามารถเปลี่ยนอาชีพได้ และไม่ได้บอกว่าคุณควรพยายามทำเหมือนกับสิ่งที่เธอทำ” วิเวียนกล่าว

 

  1. จัดลำดับความสำคัญชีวิตและความรู้สึก...ปล่อยให้ส่วนที่เหลือเป็นไป (แบบมีแบบแผน)
    ถึงแม้เธอมาจากครอบครัวชาวเอเชีย ซึ่งมักจะคาดหวังในเรื่องความสำเร็จและการวางเป้าหมายชีวิตที่เป็นแบบแผน แต่เธอมักจะหลีกเลี่ยงการตั้งเป้าหมายไปที่อาชีพหรือธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง การทำงานในบริษัทเดียวหรือ Industry เดียวกันนานเกิน 5 ปี ไม่เคยอยู่ในความคิดเธอ บางคนอาจคิดว่า “ไม่มั่นคง” แต่เธอกลับเรียกมันว่า “การค้นหาความหลากหลาย” วิเวียนมักจะถามความรู้สึกของตัวเองเสมอ ทักษะด้านไหนที่เธอจะอยู่กับมันได้ไปตลอดชีวิตการทำงาน ในขณะที่ครอบครัวกังวลเกี่ยวกับอนาคตที่ไม่แน่นอน แต่เธอกลับไม่ได้ทุกข์ใจ เพราะเป้าหมายของวิเวียนคือ การตามหาสิ่งที่อยากทำจริงๆ จนมาพบว่าคำตอบคือ UX Design

     
  2. ค้นคว้าข้อมูล พูดคุยกับผู้คน และค้นคว้าเพิ่มเติมอีก
    วิเวียนโชคดีที่ได้สัมผัสแนวคิดการออกแบบมาตั้งแต่เรียนมัธยม ทำให้เธอได้เปรียบคนอื่นๆ ในเรื่องนี้ แต่จุดเปลี่ยนสำคัญมาจากตลอด 1 ปี ในการทำ Online Research และการเข้าร่วม Workshop ได้มีโอกาสพูดคุยกับคนอื่น รวมถึงทำความรู้จักกับผู้คนใน Industry ซึ่งทำให้วิเวียนได้ค้นพบว่าสายงานไหนที่เหมาะสมกับเธอจริงๆ

     
  3. มันจะยากหน่อยตอนตัดสินใจ
    เห็นได้ชัดว่า วิเวียนทำการวิจัยมามาก ทั้งพูดคุย ทั้งรับฟังจากผู้อื่น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง (ใช้เวลาประมาณ 8 เดือน) เธอก็เริ่มรู้สึกเหมือนไม่มีอะไรคืบหน้า เธอมัวแต่โฟกัสอยู่กับการ “ต้องหาข้อมูลให้มากกว่านี้” จนรู้สึกเหนื่อยหน่าย วิเวียนคิดว่า เหมือนตอนนี้เธอกำลังรอให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเองอย่างไร้กำหนด เธอจึงตัดสินใจลาออกจากงานเพื่อทำให้ตัวเองเดินออกมาจากจุดเดิมและก้าวไปข้างหน้า เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น สมองจะเริ่มทำงานแล้วบอกเราว่า ต้องทำอะไรต่อไป

 

สิ่งที่เธอไม่คิดจะทำ

วิเวียนแนะนำว่า สิ่งเหล่านี้จะไม่ช่วยให้คุณบรรลุเป้าหมายได้เลย นั่นคือ

  • ไม่ต้องสนใจว่าตลาดมีตำแหน่งงานรองรับมากหรือน้อยแค่ไหน เพราะใช่ว่างานนั้นจะมีในช่วงที่คุณต้องการพอดี วิเวียนรู้แค่ว่าถ้าเธอแน่ใจ ว่า UX มันเหมาะกับตัวตนของเธอจริงๆ เธอจะเจองานที่เหมาะกับเธอได้เอง
  • เรียนคอร์ส UX Design ทางออนไลน์ ค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบของคนทำงานด้าน UX เขาทำงานกับบริษัทใหญ่ๆ หรือกับทีม Product Development กันได้อย่างไร พวกเขาสร้างอะไรกันบ้าง สิ่งเหล่านี้สำคัญมาก มันจะทำให้เราได้เห็นภาพรวมของงานที่เราต้องรับผิดชอบไปอย่างครบถ้วน

 

แล้วตอนนี้ วิเวียนทำอะไรที่เกี่ยวกับ UX อยู่?

เธอยังศึกษาอยู่และไม่ได้ทำงานด้านนี้อย่างเป็นชิ้นเป็นอัน ที่จริงเธอก็แอบเครียดนิดๆ เพราะเคยทำงานได้เงินเดือนมาก่อน แต่การที่เธอต้องใช้ความพยายามหนักเป็น 3 เท่า มันก็ทำให้เธอก็มีความสุขมากกว่าเดิมเป็น 3 เท่าเช่นกัน บทความนี้เป็นการพิสูนจ์ความเชื่อที่ว่า เธอพบสิ่งที่ใช่แล้ว ถ้าเธอไม่ลงมือทำ เธอก็คงไม่ได้หันมาศึกษาด้าน UX และพัฒนาทักษะของตัวเองมาถึงจุดนี้

 

หลายคนอาจคาดหวังว่า เรื่องของวิเวียนน่าจะจบท้ายอย่างสวยงาม เช่น เธอได้ทำงานหรือประสบความสำเร็จในอาชีพ แต่ในโลกความจริง มีหลายคนทำได้ หลายคนกำลังพยายามไขว่คว้าอยู่ (อย่างที่วิเวียนทำ) หรือบางคนยังไม่ได้ลงมือทำอะไรเลย บทความนี้คงพอจะเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนที่กำลังคิดจะเปลี่ยนสายอาชีพใหม่อยู่

 

ที่มา: blog.prototypr.io

 

อัพเดทบทความจากคนวงในสายไอทีทาง LINE ก่อนใคร
อย่าลืมแอดไลน์ @techstarth เป็นเพื่อนนะคะ

 

เพิ่มเพื่อน

 

 

 

บทความที่เกี่ยวข้อง